กรุงไทยแนะเอสเอ็มอีจับ 5เทรนด์ทางรอดฟื้นธุรกิจ

22 ก.ย. 2564 | 17:02 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2564 | 00:19 น.
644

กรุงไทยชี้แนวโน้มอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูเกือบ 10,000ล้านบาทพร้อมสนับสนุนร้านอาหารไปกว่า 100ร้านค้าวงเงินกว่า 160ล้านบาทผ่านโครงการจับคู่ กู้เงิน คลายทุกข์ SMEs

กรุงไทยแนะเอสเอ็มอีจับ 5เทรนด์ทางรอดฟื้นธุรกิจ

นายธวัชชัย   ชีวานนท์   รองกรรมการผู้จัดการใหญ่  ธนาคารกรุงไทย กล่าวในเวทีเสวนา “จับคู่ กู้เงิน  คลายทุกข์ SMEs” โดยระบุว่า  ภายใต้การระบาดของโควิด-19ที่ผ่านมา  ธนาคารกรุงไทยในฐานะธนาคารของรัฐ มีภารกิจหลักสนับสนุนช่วยเหลือและกอบกู้เศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นรากฐานของประเทศในการเจริญเติบโต  ไม่ว่าการจ้างงาน  หรือ ความเป็นอยู่ของประชาชน หากเศรษฐกิจของเอสเอ็มอีแข็งแรงประเทศก็จะแข็งแรง

ทั้งนี้ในภาวะความยากลำบากที่ผ่านมา  ธนาคารกรุงไทยได้มีส่วนร่วม 2มิติคือ สนับสนุนโครงการภาครัฐ เช่น   คนละครึ่ง  ยิ่งใช้ยิ่งได้  หรือในไตรมาสสี่ที่จะเปิดประเทศจะมีโครงการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว  ซึ่งธนาคารกรุงไทยยังคงเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนเรื่องการนำส่งเงินอุดหนุนของภาครัฐผ่านแพลตฟอร์มไปสู่ภาคส่วนที่ถูกต้อง

มิติที่สอง ธนาคารกรุงไทยร่วมกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆในการสนับสนุนเศรษฐกิจช่วงยากลำบาก โดยจะเห็นจากจากการระบาดของโควิดในรอบแรก ธนาคารกรุงไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และรัฐบาล ช่วยสนับสนุนมาตรการแบบเหมารวมในช่วงแรกเพื่อให้ทันสถานการณ์ที่รวดเร็ว ต่อมาได้ปรับการช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เมื่อการระบาดระลอกสองและสาม ธนาคารได้ปรับการจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้เกิดประโยชน์และเป็นการให้ทรัพยากรที่ตรงจุด

 

 

ปัจจุบันธนาคารกรุงไทยดำเนิน 7มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี จะมีทั้งลูกค้าบุคคล  เรื่องสินเชื่อบ้านอยู่ด้วย  สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อหมุนเวียน   สำหรับลูกค้าธุรกิจ เช่น  สินเชื่อที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 20ล้านบาท  หรือวงเงินกู้ 20-500ล้านบาท  หรือมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และโครงการDR BIZ สำหรับการลดภาระหนี้ ยืดภาระหนี้และเติมสภาพคล่อง

 "ที่ผ่านมาโครงการจับคู่กู้เงิน  ธนาคารกรุงไทยสนับสนุนร้านอาหารไปกว่า 100ร้านค้าวงเงินกว่า 160ล้านบาทโดยยังมีคำขอเข้ามาอย่างต่อเนื่อง  นอกจากนี้ยังอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูแล้ว 3,000รายวงเงินเกือบ 10,000ล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอี"

 

นอกจากนี้  มาตรการต่างๆ อาทิ สินเชื่อฟื้นฟู อัตราดอกเบี้ย 2%สองปีแรก หรือภายใน 5ปีเฉลี่ยกว่า 4%มีค้ำประกันโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)   สินเชื่อหมุนเวียนคู่ค้า สำหรับซัพพลายเชน ผู้ประกอบการซื้อมาขายไปขอสินเชื่อได้ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันของบสย.  สินเชื่อสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวดอกเบี้ย 4%ปีแรก  กรณีวงเงินกู้ไม่ถึง 1ล้านบาทไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน  หรือเอสเอ็มอีสมาร์ทช้อปสำหรับร้านธงฟ้า และแอพพลิเคชั่น Krungthai Business สำหรับผู้ประกอบการที่มียอดขาย ไม่เกิน100ล้านบาทใช้บริการพร้อมโอนเงินฟรี  ด้วยแพกเกจเหมาจ่ายรายปี 111บาท

นายธวัชชัยเพิ่มเติมว่า   สำหรับแนวโน้มสภาพแวดล้อมธุรกิจจะถูกกำหนดด้วย  5เทรนด์  ประกอบด้วย 1. เศรษฐกิจหลังโควิดที่จะฟื้นตัวลักษณะK Shape คือ ธุรกิจบางประเภทยังเติบโตได้ดี โดยเฉพาะส่งออก ขณะเดียวกันบางผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอิงกับการท่องเที่ยวหรือบริการยังฟื้นตัวช้าและมีความท้าทาย 

2.กระแสโลกมุ่งสู่ Green Economy พลังงานสะอาดลดการพึ่งพาน้ำมันเป็นอุตสาหกรรมไฟฟ้ามากขึ้น  3.ดิจิทัลดิสรัปชั่นที่มารวดเร็วขึ้น ซึ่ง 18เดือนที่ผ่านมาสะท้อนการเปลี่ยนแปลงชัดเจนการพึ่งพาเทคโนโลยี่เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ช หรือธุรกิจรับส่งอาหาร(ฟู้ดดิลิเวอรี่) แนวโน้มธุรกรรมในสาขาและเอทีเอ็มปรับลดลง ขณะเดียวกันธุรกรรมต่างๆผ่านมือถือมีการเติบโตก้าวกระโดด

4. เรื่องกติกากำกับที่จะมีผลต่อภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล(ESG)  เหล่านี้มีส่วนผลักดันเศรษฐกิจในอนาคต  และสุดท้ายคือ การลดต้นทุน(Cost to Serve) บริการประชาชน ซึ่งทุกองค์กรต้องพิจารณาการให้บริการภายใต้ต้นทุนที่ถูกลงจึงจะอยู่รอดได้

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกนั้นมีแนวโน้มเติบโตเร็วกว่าไทย  เช่น สหรัฐอเมริกา โดยประมาณการจีดีพีของไทยปีนี้คาดไว้เพียง 0.5% หรือหากเกิดสถานการณ์เลวร้ายเศรษฐกิจอาจจะไม่ขยายตัว  แต่ด้วยสถานการณ์โควิดที่คาดว่าจะค่อยๆผ่อนคลาย และมีการเปิดประเทศพร้อมกับความแข็งแกร่งทำให้ตลาดคาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตสูงขึ้น 3.9%