จีนกำลังสูบเงินออกจากสหรัฐอเมริกาด้วย Bitcoin

27 ส.ค. 2564 | 10:46 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ส.ค. 2564 | 21:20 น.
1.5 k

จีนกำลังสูบเงินออกจากสหรัฐอเมริกาด้วย Bitcoin: คอลัมน์ ยัง อีโคโนมิสต์ โดยนาย ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้ง Satang Pro และกรรมการ บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ข่าวที่ทางการจีนประกาศระงับการทำธุรกรรมด้วยบิทคอยน์และคริปโทเคอร์เรนซี่ รวมถึงการกวาดล้างเหมืองขุดบิทคอยน์ด้วยการอ้างปัญหาเรื่องพลังงานทำให้ดูเหมือนว่า จีนนั้นประกาศสงครามต่อต้านอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี่ แต่ในความเป็นจริงแล้วทางการจีนกำลังใช้วิธีการจัดระเบียบคริปโทเคอร์เรนซี่ เพื่อควบคุมปริมาณเงินและทิศทางการไหลของเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

 

สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกามีมาอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว มาตรการการจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้น และการคว่ำบาตรบริษัทสัญชาติจีนของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ไม่เป็นอย่างที่คาด สหรัฐฯไม่ได้รับประโยชน์ จากมาตรการดังกล่าว ทั้งยังได้รับผลกระทบ คือการสูญเสียตำแหน่งงานไปกว่า 245,000 ตำแหน่ง หอการค้าสหรัฐฯประเมินว่า สถานการณ์ดังกล่าวทำให้การส่งออกของแต่ละรัฐตกอยู่ในความเสี่ยง ตัวอย่างเช่น ความเสียหายต่อการส่งออกของฟลอริดา เพียงรัฐเดียวมีมูลค่าสูงถึง 1.9 พันล้านดอลลาร์

 

ในขณะที่จีนใช้วิธีที่ชาญฉลาดกว่า จีนไม่เพียงกำหนดมาตรการคว่ำบาตรและส่งออกผลิตภัณฑ์ต่างๆจากจีน ผ่านประเทศตัวกลาง อย่างเวียดนาม ไต้หวัน และเม็กซิโกไปยังสหรัฐฯ แต่ยังทำให้สหรัฐฯต้องจ่ายให้กับสินทรัพย์ที่ไม่มีหลักประกันและควบคุมได้ยาก อย่างคริปโทเคอร์เรนซี่หรือสกุลเงินดิจิทัล

 

สหรัฐฯอัดฉีดเงินหลายพันล้านดอลลาร์เข้าสู่เศรษฐกิจจีนทุกปีโดยไม่รู้ตัวผ่านบิทคอยน์ (BTC) เนื่องจากบิทคอยน์ส่วนใหญ่ ถูกขุดในประเทศจีน คือประมาณ 65% ของเหมืองขุดทั้งหมด บิทคอยน์เหล่านี้จะถูกแลกเปลี่ยนเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นหลักในการแลกเปลี่ยนทั่วโลก

เมื่อได้เหรียญขุดใหม่มา ส่วนหนึ่งจะส่งไปแลกเปลี่ยนคริปโทโดยตรง อีกส่วนสามารถเก็บไว้ในกระเป๋าคริปโทของผู้ขุด แต่ในท้ายที่สุด ไม่ว่าส่วนไหนก็จะถูกขาย-แลกเปลี่ยนไปสู่เงินดอลลาร์อยู่ดี แต่ละวันมีบิทคอยน์ถูกขุดขึ้นใหม่กว่า 900 BTC คิดเป็นรายรับรวมต่อวันประมาณ 31 ล้านดอลลาร์ (ณ สิ้นเดือนมิถุนายน) นั่นหมายความว่าในเวลาเพียงปีเดียว บรรดานักขุดเหมืองบิทคอยน์จะมีรายได้มากกว่า 10 พันล้านดอลลาร์

 

มาดูเฉพาะฝั่งจีนกันบ้าง บรรดาเจ้าของเหมืองขุดชาวจีนมีรายรับประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์ตั้งแต่ฤดูร้อนที่แล้ว ซึ่งหากรวมราคา บิทคอยน์ กับความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว รายรับจะเพิ่มขึ้นสองหรืออาจถึงสามเท่า ในแต่ละปีเลยทีเดียวเงินรายรับ เหล่านี้ จะสะพัดหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจของประเทศผ่านการใช้จ่าย ออมทรัพย์ และลงทุน

 

ย้อนกลับไปในปี 2013 จีนจำกัดการทำธุรกรรมคริปโทกับธนาคารและการใช้จ่ายเงินของบริษัท ต่อมาในปี 2017 ทางการจีน ได้ปิดการแลกเปลี่ยนคริปโทในประเทศและบล็อกการเข้าถึงแพลตฟอร์มต่างประเทศ แต่ยังคงเปิด ให้คนจีน สามารถเป็นเจ้าของคริปโทได้อย่างถูกกฎหมาย จะเห็นได้ว่าข้อจำกัดเหล่านี้ บังคับใช้กับสถาบันการเงิน ทำให้ เห็นได้ว่า ทางการจีนต้องการที่จะป้องกันไม่ให้ “ความเสี่ยงของบุคคล ส่งผลไปยัง ระดับสังคม” แต่ในทางกลับกัน จีนยังคงเปิดประตู ให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน

 

ขณะเดียวกัน ทางการจีนก็กวาดล้างการขุดบิทคอยน์ ซึ่งทำให้มีผลกระทบกับตลาด โดยอ้างว่า การขุดบิทคอยน์ ใช้พลังงาน และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป ส่งผลให้ประเทศอาจ ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลาง ทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2060 ได้ แต่ความจริงนั้นค่อนข้างจะต่างไปจากข้ออ้างของทางการ

 

ข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีของอุปทานบิทคอยน์เป็นประโยชน์กับประเทศจีน ทำให้จีนมีอิทธิพลต่อราคาคริปโท โดยการเก็บเหรียญ ไว้ในความครอบครองของผู้ขุด และไม่เอาออกมาขายในตลาด ความเข้มงวดของจีนในการปิดเหมืองขุดภายในประเทศนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบกับบรรดาเหมืองที่ถูกปิดเท่าไหร่นัก เหมืองต่าง ๆ ถูกกระจายไปยังประเทศอื่น ๆ ผู้ผลิตอุปกรณ์ขุดของจีน (BTC.TOP, Huobi และ HashCow) ประกาศว่ากำลังขยายการดำเนินงานในต่างประเทศ รวมถึงในอเมริกาเหนือด้วย

 

แนวคิดในการควบคุมธุรกรรมคริปโทและการขุดบิทคอยน์กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อย่างในอิหร่าน ซึ่งกลับมาสนับสนุนการทำเหมืองขุดอีกครั้ง รัฐบาลอิหร่านกำลังใช้ วิธีการเดียวกับจีน โดยกำกับการใช้   คริปโทที่สร้างขึ้นในต่างประเทศ แต่อนุญาตให้ชำระค่าสินค้านำเข้าด้วยเหรียญที่ขุดได้ในประเทศ ในปีที่ผ่านมา อิหร่านได้รับเงินมากกว่า 400 ล้านดอลลาร์จากการขุดคริปโทเคอเรนซี ในขณะที่รายได้ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพียงสองเท่าเท่านั้น

 

อีกประเทศหนึ่งที่วางแผนพัฒนาโครงการขุดคือเอลซัลวาดอร์ ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ยอมรับให้ใช้บิทคอยน์เป็นเงินอย่างถูกกฎหมาย นายิบ บูเคเล ประธานาธิบดีแห่งเอลซัลวาดอร์ กำลังพิจารณาที่จะใช้ประโยชน์จากพลังงานที่ “ถูกมาก, สะอาด 100% และยังหมุนเวียนได้ 100%" จากภูเขาไฟในท้องถิ่น

 

คาซัคสถานมีศูนย์ขุดบิทคอยน์ขนาดใหญ่โดย Enegix ที่มีกำลังการผลิต 180 MW และแท่นขุดเจาะมากถึง 50,000 แท่น กำลังจะเริ่มดำเนินการในเดือนกันยายน ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ผลิตอุปกรณ์ทำเหมืองของจีน Canaan ยังได้จัดตั้งศูนย์ แห่งใหม่ ในคาซัคสถานด้วย

 

จีนอาจได้เปรียบจากการส่งออกฟาร์มคริปโท จากที่ปัจจุบันกฎหมายจีนกำหนดให้นักลงทุนจีนห้ามขุด แต่ไม่ได้ห้ามผลิต เครื่องผลิตบิทคอยน์ส่วนใหญ่อยู่ที่จีนอยู่แล้ว ทางการบอกไม่ให้ขุด แต่ไม่ได้หมายความว่าบริษัทที่ประเทศจีนจะผลิตเหรียญออกมาไม่ได้  เพียงแต่เปลี่ยนที่ จากเดิมผลิตที่จีนก็ผลิตที่อเมริกา แคนาดา หรือคาซัคสถาน เพราะประเทศเหล่านั้นไม่มีปัญหาเรื่องเหมืองขุด คนที่ไปตั้งก็เป็นคนจีน

 

ถ้ามองย้อนกลับไปในช่วงเดือนพฤษภาคมที่บิทคอยน์ราคาร่วง ส่วนหนึ่งก็มาจากท่าทีการควบคุมตลาดคริปโทเคอร์เรนซี่ภายในประเทศของจีน จนทำให้เกิดการขายอย่างหนักจนราคา บิทคอยน์ ลงไปอยู่ในช่วง 30,000ดอลลาร์ แต่ตลาดก็ยังมีแรงซื้ออยู่จนกระทั่งขยับขึ้นมาถึงเกือบ 50,000 ดอลลาร์ ในสัปดาห์นี้ (23 สิงหาคม 2564) ซึ่งมองว่าเป็นการจบช่วงขาลงของตลาด

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะเริ่มเป็นขาขึ้นแต่ ก็อาจจะเป็นขาขึ้นแบบ swing up สิ่งสำคัญที่อยากเตือนนักลงทุนคือการ FOMO และการ Panic โดยในช่วงขาขึ้นนี้จะต้องมีเหรียญใหม่ ๆ ออกมา อยากให้ศึกษาให้ถี่ถ้วนก่อนเริ่มลงทุน