ส่องเทรนด์ครึ่งปีหลัง ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

19 ส.ค. 2564 | 12:16 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2564 | 19:17 น.

ส่องเทรนด์ครึ่งปีหลัง ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ บทความโดย ยุทธชัย เตยะราชกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย

 

หากมองย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2564 มีการคาดการณ์ในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากปัจจัยเรื่อง การดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศและจากนโยบายการอัดฉีดงบประมาณจำนวนมหาศาลจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา ผู้คนต่างมีความหวังในการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง ซึ่งจะทำให้สามารถกลับมาเดินทางท่องเที่ยวได้ก่อนสิ้นปี

 

แม้ว่าในครึ่งปีหลังของ พ.ศ. 2564 ประเทศทั่วโลกยังคงต้องรับมือกับการกลายพันธ์ของโควิด-19 แต่เรายังมองเห็นโอกาสในการเติบโตด้านเศรษฐกิจจากนโยบายทางการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายตลอดสิ้นปีนี้

 

ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 ได้แก่ มาตรการผ่อนคลายทางการเงินและมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยในการฟื้นตัว เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศต่างๆทั่วโลก ที่จะช่วยรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกเอาไว้

 

อาทิ สหรัฐอเมริกาได้มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และแพ็กเกจเยียวยาโควิด-19 มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภค การกระตุ้นทางเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกกลับมาสู่ระดับปกติเหมือนช่วงก่อนโควิด-19 อีกครั้งภายในสิ้นปี 2564 หรือต้นปี 2565

ส่องเทรนด์ครึ่งปีหลัง ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

อัตราในการฉีดวัคซีนมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จะเห็นได้จากประเทศที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่รวด เร็ว คือประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมจำนวนประชากรจำนวนมากและรวดเร็ว และเมื่อภาคเศรษฐกิจกลับมาเปิดอีกครั้ง

 

ความต้องการจับจ่ายที่ถูกจำกัดไว้ในช่วงการล็อกดาวน์หลายเดือนจะส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคจะมีความมั่นใจมากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการพักผ่อนจะเพิ่มมากขึ้นตามมาด้วย อาทิ การเดินทางเพื่อพักผ่อนภายในประเทศของพื้นที่ที่ประชากรส่วนใหญ่ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว

 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะช่วยผลักดันให้หุ้นมีมูลค่าสูงขึ้นในปี 2564 อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรพิจารณาสิ่งที่อาจเกิดขึ้น หากมาตรการสนับสนุนจากธนาคารกลางยุติลง เช่น อัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น สภาพคล่องน้อยลงและมูลค่าทรัพย์สินที่ปรับตัวลง จะส่งผลให้ตลาดการเงินมี แนวโน้มผันผวน

 

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่กลับมาเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศและการกลายพันธุ์ของไวรัส อาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง รัฐบาลภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศนโยบายต่างประเทศกับคู่แข่งคนสำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ จีน รัสเซีย และแม้แต่อิหร่าน  ได้เพิ่มความตึงเครียดทางการค้าที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจและเป็นความเสี่ยงที่น่าจับตามอง เพื่อช่วยเหลือนักลงทุนในการบรรลุเป้าหมายทาง การเงินในระยะยาว

 

กลยุทธ์การลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 นี้ อาจจะต้องเน้นไปที่ การ ลดอายุเฉลี่ยของการลงทุนในตราสารหนี้ เพราะด้วยคุณสมบัติที่มีความทนทานของตราสารหนี้ ส่งผลให้สามารถรับมือต่อความผันผวนที่เพิ่มขึ้น ทำให้พอร์ตของนักลงทุนมีเสถียรภาพมากขึ้น ตราสารหนี้ที่มีอายุสั้นกว่าจะลดภาวะขาดทุน หากธนาคารกลางเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อตอบรับกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นหรือการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้น

 

สร้างพอร์ตการลงทุนไปกับ Mega trends แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ธีมการลงทุนระยะยาว เช่น ดิจิทัล ความยั่งยืน นวัตกรรม และการบริโภคของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น จะยังคงเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจในระยะยาว เมกะเทรนด์ต่างๆ เหล่านี้เชื่อมโยงเข้าถึงกัน จะสร้างโอกาสในการลงทุนเนื่องจากการพัฒนาในด้านใดด้านหนึ่งอาจส่งผลนำไปสู่ความก้าวหน้าอย่างมากมายในด้านอื่นๆ

 

หาโอกาสจากกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัว และยังคงลงทุนต่อเนื่องในกลุ่มที่เติบโตมาแล้ว เมื่อความไม่แน่นอนบรรเทาลง เศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัว กลุ่มอุตสาหกรรมและภูมิภาคที่จะได้รับผลประโยชน์ที่สุด ก็คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาด COVID-19 อันได้แก่ หุ้นคุณค่าในสหรัฐฯ และหุ้นยุโรปซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัวและน่าจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเศรษฐกิจ

 

ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อกำลังผ่อนคลายลงและการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาจเป็นโอกาสที่ดีของกลุ่มหุ้นเติบโตของสหรัฐฯ และหุ้นเอเชียยกเว้นญี่ปุ่น (Asia ex-Japan) เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่เคยได้รับประโยชน์จากการแพร่ระบาดก่อนหน้านี้แล้ว นักลงทุนควรจัดสรรพอร์ตเพื่อคว้าโอกาสจากกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัว แต่ยังคงลงทุนในกลุ่มที่เติบโตมาก่อนหน้าแล้ว

 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ที่ไม่เท่ากัน อาจส่งผลให้เกิดความผันผวนของตลาด แม้ว่าจะกลับมาเปิดเศรษฐกิจใหม่ก็ตาม นักลงทุนควรสร้างสมดุลของพอร์ตการลงทุน และกระจายการลงทุนไปยังหลากหลายสินทรัพย์ เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน แต่ยังคงคว้าโอกาสและลงทุนต่อไปแม้ในช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอน

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,706 วันที่ 19 - 21 สิงหาคม พ.ศ. 2564