MTC สวนโควิด-19 ปรับเพิ่มเป้าสินเชื่อปีนี้โต 35%

11 ส.ค. 2564 | 11:00 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2564 | 18:00 น.

MTC ไม่สนโควิด-19 ประกาศปรับเพิ่มเป้าพอร์ตสินเชื่อปีนี้โต 30-35% จากเดิม 20-25% ผลจากความต้องการสินเชื่อคึกคัก จำนวนเปิดสาขาทำได้ตามเป้า แถมปรับลดอัตราดอกเบี้ย หนุนให้ฐานลูกค้าใหม่เติบโตได้เป็นอย่างดี

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)หรือ MTC เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการเงินทุนเพิ่มขึ้น ทำให้ยอดสินเชื่อเติบโตมากขึ้น โดยช่วงครึ่งปีแรกมียอดสินเชื่อคงค้างกว่า 79,830 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,656 ล้านบาท หรือ 26.37% จากงวดเดียวกันปีก่อน บริษัทฯ จึงปรับเป้าหมายการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อปีนี้เป็น 30-35% จากเดิมอยู่ที่ 20-25%

ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สู้ดี ทำให้ลูกค้ามีความจำเป็นต้องการเงินทุนเพิ่มขึ้น ประกอบกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นและจำนวนสาขาเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งบริษัทฯได้วางงบลงทุนสำหรับการขยายสาขาไว้ที่ 300 ล้านบาท รองรับแผนเปิดเพิ่มอีก 600 สาขา ซึ่งคาดว่า จะครบ 5,500 สาขา ภายในสิ้นปีนี้

 

ส่วนภาพรวมผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 มีรายได้รวม 7,753 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.12% จากงวดเดียวกันปีก่อนมีรายได้รวมเท่ากับ 7,105 ล้านบาท  และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,644 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 5.59% จากงวดเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิเท่ากับ 2,504 ล้านบาท

ขณะที่ไตรมาส 2/2564 สิ้ นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564  บริษัทฯและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 3,896 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 9.07% มีรายได้รวม 3,572 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิ 1,270 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 0.24% มีกำไรสุทธิเท่ากับ 1,267 ล้านบาท เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการเงินทุนเพิ่มขึ้น ทำให้ยอดสินเชื่อเติบโตมากขึ้น โดยช่วงครึ่งปีแรกมียอดสินเชื่อคงค้างกว่า 79,830 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,656 ล้านบาท หรือ 26.37% จากงวดเดียวกันปีก่อน

              

ขณะเดียวกัน บริษัทมีการเปิดสาขาใหม่ ช่วยขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น โดยครึ่งปีแรก มีสาขาใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 400 สาขา ส่งผลให้มีปัจจุบันบริษัทมีสาขารวม 5,284 สาขา กระจายอยู่ทั่วประเทศ

 

สำหรับแนวโน้มธุรกิจช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะมีทิศทางที่ดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากความต้องการสินเชื่อของลูกค้ายังคงอยู่ในระดับสูง หลังเข้าสู่ช่วงฤดูกาลหน้าฝน จึงทำให้ลูกค้าในกลุ่มเกษตรกรมีความต้องการเงินทุนไปใช้ในการเพาะปลูกมีจำนวนมากกว่าช่วงปกติ ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่กดดันให้ความต้องการสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น เพราะภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและได้รับผลกระทบกันเป็นวงกว้าง

 

อย่างไรก็ตาม จากดีมานด์ที่เพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้บริษัทฯต้องคัดกรองคุณภาพสินเชื่อของลูกค้าด้วยความระมัดระวัง โดยตั้งเป้าหมายการคุมระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ไม่เกิน 2% และมั่นใจว่า จะสามารถผ่านสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจในรอบนี้ไปได้ ด้วยกลยุทธ์การบริหารงาน โดยเน้นการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด