ล็อกดาวน์เข้มเดิมพันศก. กู้ 5 แสนล้านไม่พอสู้ศึก GDP ลงลึกส่อติดลบ 0.8%

01 ส.ค. 2564 | 07:30 น.

เอกชนชี้ล็อกดาวน์เอาไม่อยู่ ยอดผู้ติดเชื้อโควิดพุ่ง กลางส.ค. เห็นยอดติดเชื้อทะลุ 2 หมื่น หวั่นจีดีพีติดลบ 0.8% จี้รัฐยกระดับมาตรการเข้มข้น ใช้มาตรการการคลังด่วนทันที ฉีดเงินเยียวยาชาวบ้าน-ธุรกิจ พยุงชีพจรเศรษฐกิจ เติมวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาทใช้ไม่พอ

การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่ยืดเยื้อกินเวลานานถึง 4 เดือน นับจากเดือนเมษายนที่พบผู้ติดเชื้อรายแรก ยาวนานกว่าหลายๆประเทศ ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อให้ลดลงได้แล้ว กลับพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และทำสถิติใหม่บ่อยครั้ง ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิต หลังการแพร่ระบาดส่วนใหญ่เป็นสายพันธ์ุเดลตา

 

ทำให้เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรการเข้มงวดขั้นเด็ดขาดดังขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่ารัฐบาลจะยกระดับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการเพิ่มพื้นที่่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (ล็อกดาวน์) จาก 10 จังหวัดเป็น 13 จังหวัด แต่ก็ยังไม่สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ จึงต้องการให้ดำเนินการล็อกดาวน์เหมือนเดือนเมษายนปีที่แล้ว

 

ไทยกับทาง 3 แพร่ง

ล่าสุด นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังยืนอยู่บนทาง 3 แพร่งที่ต้องเลือกว่า จะเป็นเส้นทางแห่งอินเดีย ที่เป็นเส้นทางแห่งหายนะ ที่มีความเสียหายจำนวนมากรออยู่ หรือเส้นทางแห่งอังกฤษ ที่เป็นเส้นทางของความท้าทายและความพยายาม (ที่จะสู้ด้วยวัคซีน) และสุดท้ายเส้นทางแห่งจีนที่เป็นเส้นทางของความเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่น

 

กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยาเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ประสิทธิภาพในการควบคุมการล็อกดาวน์ของรัฐบาลน้อยกว่าปีก่อน 20% โดยจะเห็นจากระบบโลเกชั่นของมือถือยังมีการเคลื่อนย้ายผู้คนอยู่ 14-40%ดังนั้น จึงเห็นคนติดเชื้อมากกว่าที่คาด

  ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา

ทั้งนี้กรุงศรีฯ ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 มาแล้ว 4 ครั้ง ซึ่งล่าสุดกรณีเลวร้ายที่สุด ได้กลายเป็นกรณีฐานไปแล้ว และแนวโน้มผู้ติดเชื้ออาจจะพุ่ง 25,000 ราย ต่อวันกรณีเลวร้ายสุดประมาณกลางเดือนสิงหาคมนี้  โดยขึ้นกับประสิทธิภาพของการล็อกดาวน์ ถ้าน้อยกว่า 50% และวัคซีนที่ฉีดไปแล้วหรือที่กำลังฉีดมีประสิทธิภาพ ป้องกันการติดเชื้อได้น้อยกว่า 50% จะทำให้การติดเชื้อยาวขึ้น

 

จี้ออกมาตรการเร่งด่วน

ดังนั้น หากโยงกับสภาวะเศรษฐกิจ จำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีมาตรการออกมาอย่างเร่งด่วนและมากพอ ซึ่งนโยบายการคลังสามารถทำได้เลยและมีประสิทธิในระยะสั้น และสามารถทำนโยบายแบบวงกว้างได้เลย เพราะวันนี้ไม่มีเวลามาออกแบบนโยบาย เพื่อให้ตรงจุด การทำแบบนั้นต้องใช้เวลา จึงต้องชั่งน้ำหนักเวลาที่หายไปแต่ละวัน สุดท้าย อาจจะไม่ทัน

 

“อย่าลืมว่า เราต้องแข่งกับเวลา เพราะผลกระทบวงกว้างแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องใช้นโยบายการคลังอย่างเร่งด่วน และต้องทำทันที  พรุ่งนี้ดีที่สุด รอ 1 เดือนไม่ได้แล้ว ลมหายใจของเศรษฐกิจหายไปเรื่อยๆ ถ้ายิ่งขยายวงกว้างจะยิ่งยาก จริงๆควรจะออกมาเดือนที่แล้ว แต่เมื่อออกมาไม่ได้ ก็ต้องออกพรุ่งนี้และต้องทำนโยบายยาว 6 เดือน” ดร.สมประวิณกล่าว

 

ดังนั้นการทำนโยบายวันนี้ ต้องเน้นนโยบายการคลัง เพราะกระจายได้เร็วมีประสิทธิภาพ โดยอัดเฉีดเงินไปยังหน่วยเศรษฐกิจต่างๆทั้งผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบ และกำลังซื้อ  และนโยบายต้องมากพอ ,ครอบคลุมพอ และยาวพอ เพราะความไม่แน่นอนมีสูงกว่า การทำนโยบายให้เหลือดีกว่าขาด ส่วนการกู้เพิ่ม สามารถออกกฎกระทรวงขยายเพดานหนี้สาธารณะได้ เพราะเงินกู้ 5 แสนล้านบาทอาจไม่เพียงพอ

 

คาดติดเชื้อทะลุ 4 หมื่น

ด้านพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรติ นาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ยอมรับว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจะลากยาวถึงปีหน้า เพราะแม้จะมีมาตรการเข้มเชิงพื้นที่ แต่ยังมีคนเดินทางไปต่างจังหวัดซึ่งอาจต้องขยายพื้นที่สีแดงมากขึ้นหรือเพิ่มความเข้มข้นมาตรการ

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรติ นาคินภัทร จำกัด (มหาชน)

ในแง่จำนวนผู้ติดเชื้อนั้น กรณีฐาน ในระยะ 1 เดือนข้างหน้าอาจจะเห็นผู้ติดเชื้อ 2 หมื่นกว่าต่อวัน กรณีที่ล็อกดาวน์สามารถควบคุมได้ แต่กรณีเลวร้ายอาจเกิน 4 หมื่นราย จากล็อกดาวน์ไม่สามารถควบคุมได้ มีการระบาดกระจายไปยังโรงงาน ทำให้ต้องปิดโรงงานกว่า 20% ของศักยภาพการรองรับในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด จนกระทบภาคการผลิตที่เป็นหัวใจของการส่งออก จะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก โดยอาจเห็นจีดีพีหดตัวติดลบ 0.8% ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง

 

KKPแนะ 5 ทางออก

ดังนั้น รัฐบาลควรต้อง

1.วางแผนใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่รอบคอบ สอดคล้องกับสถานการณ์ และระดับศักยภาพของระบบสาธารณสุข และสื่อสารกับประชาชนอย่างโปร่งใส

 

2.เพิ่มศักยภาพในการตรวจ สอบสวนโรค และรักษา และเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิผล เพื่อเพิ่มสัดส่วนของประชากรที่มีภูมิคุ้มกัน

 

3.ออกมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือที่เพียงพอและเหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบและป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นถาวรทางเศรษฐกิจ

 

4.เตรียมการเพื่อกระตุ้นและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิด และ

 

5.รักษาความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของระบบการเงิน

 

 “แม้ระดับหนี้สาธารณะของไทยใกล้เพดานวินัยทางคลังที่ 60% และคาดว่า ปี 2565 จะเกินระดับไปที่ 65% แต่ด้วยระดับดอกเบี้ยที่ลดลง รัฐบาลยังมีศักยภาพในการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นได้ ถ้าจำเป็น เพราะหากดูตามแผนงานหลัก 4 ด้านคือ สาธารณสุข การเยียวยา กระตุ้นเศรษฐกิจ และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิด-19  แผนการใช้เงินอาจจะมากกว่าเงินกู้ 5 แสนล้านบาท”นายพิพัฒน์กล่าว

 

ถก10 ซีอีโอหาทางออก

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ช่วงเย็นวันที่ 30 ก.ค.นี้ จะมีประชุมเพื่อระดมสมองกับกลุ่มซีอีโอจากบริษัทสมาชิกของหอการค้าไทยประมาณ 10 คน เพื่อนำเสนอแนวทางในการควบคุมโรคโควิดก่อนวันที่ 2 ส.ค.64 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการล็อกดาวน์ เนื่องจากเห็นว่า การล็อกดาวน์ที่ผ่านมา “เจ็บแต่ไม่จบ” จึงจะระดมสมองหาแนวทางที่คิดว่าจะได้ผลส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรี ก่อนที่รัฐบาลจะพิจารณาว่า จะต่อหรือไม่ต่อการล็อกดาวน์ หรือจะยกระดับการคุมเข้มเพิ่มขึ้นอย่างไร

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย

“หากมีการยกระดับล็อกดาวน์ให้เข้มข้นขึ้น เศรษฐกิจจะเสียหายเพิ่มขึ้น เรียลเซ็คเตอร์จะตายหมดเช่นถ้าให้ปิดโรงงาน คุณตายอย่างเดียว มันไม่จบ คุณไม่มีวัคซีนแล้วไปปิดก็จะยิ่งไปกันใหญ่ ซึ่งในการหารือของซีอีโอครั้งนี้เราจะเสนอทางออกและจะมีความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างไร เพราะ 2 ส.ค.นี้ดูแล้วไม่จบแน่”นายสนั่นกล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,701 วันที่ 1 - 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564