ไขข้อข้องใจ เก็บภาษีวัคซีน อยู่ขั้นตอนไหนของ ราคา โมเดอร์นา

14 ก.ค. 2564 | 15:06 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2564 | 20:11 น.
716

ดราม่า วัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา ทำไมราคาจองต่อเข็ม จึงแพงถึง 1,650 บาท การจัดเก็บภาษี มีส่วนผลักดันให้ต้นทุนสูงขึ้น และถูกบวกเข้าไปต้นทุนหรือไม่ ทำไมจึงไม่ยกเว้นภาษีการนำเข้าวัคซีน วันนี้กรมสรรพากร จะมีคำชี้แจงรายละเอียด

เกิดคำถามมากมายกับการสั่งจอง วัคซีนทางเลือก โมเดอร์นา ในราคาเข็มละ 1,650 บาท ที่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งได้ทยอยให้ประชาชนทั่วไปจองล่วงหน้า หลังจากนพ.บุญ วนาสินประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์กรุ๊ป (THG) ออกมาระบุว่า ราคาหน้าโรงงานของโมเดอร์นา เข็มละ 584 บาทเท่านั้น

 

ราคาเพิ่มสูงขึ้นระหว่างทางมาจากไหน มีการโยงไปที่เป็นการจัดเก็บภาษีของภาครัฐ โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่ถือเป็นการโยนภาระให้กับประชาชน และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งถูกกล่าวหา ว่า บวกกำไรจากการนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา หลังกำหนดราคาขายให้กับโรงพยาบาลเอกชนที่ราคาเข็มละ 1,100 บาท

 

ล่าสุด อภ. ออกมาระบุว่า ไม่สามารถเปิดเผยราคานำเข้าได้  แต่ราคาซื้อขายในตลาดโลก จะอยู่ที่ 35-37 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส และที่บอก ว่าอภ.บวกกำไร หรือ ภาษีถึง 516 บาท หรือ 88% นั้นไม่จริง เพราะราคา 1,100  บาท เป็นราคาที่กำหนดโดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายโมเดอร์นาโดยตรงในไทย

 

ราคาดังกล่าวรวมแวตและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าขนส่ง ค่าเก็บรักษา ค่าประกันภัยรายบุคคล เพื่อให้ความคุ้มครองกับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา กรณีที่อาจมีอาการไม่พึงประสงค์ 

กรมศุลกากรและกรมสรรพากรต้องออกมาชี้แจงในเรื่องดังกล่าว โดยกรมศุลกากรยืนยันว่า การนำเข้าวัคซีนและอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าให้เหลือ 0% ทั้งหมดอยู่แล้ว รวมถึงยังยกเว้นของที่นำเข้ามาใช้ในการรักษา วินิจฉัยหรือป้องกันโควิด-19 ตามรายการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ไม่ต้องเสียอากรนำเข้าไปจนถึงเดือนมีนาคม 2565

 

แต่ที่ผู้นำเข้ายังคงต้องเสียคือภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ แวต ที่อัตรา 7% ซึ่งเรื่องนี้ กรมสรรพากรได้ออกมาระบุ ว่า แม้ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องเสียแวตจากการซื้อสินค้าแต่ก็สามารถนำมาขอคืนแวตได้ เมื่อเกิดการขายออกไป ตามระบบของภาษีมูลค่าเพิ่มคือ ภาษีขาย หักด้วยภาษีซื้อ เมื่อมีส่วนต่างที่เกิดขึ้น จึงมีหน้าที่ต้องนำส่งสรรพากร

ไขข้อข้องใจ  เก็บภาษีวัคซีน อยู่ขั้นตอนไหนของ ราคา โมเดอร์นา

อย่างเช่น ผู้นำเข้าวัคซีนได้นำเข้าวัคซีนมาในราคา 100 บาท มีแวต 7% คิดเป็นภาษีซื้อ 7 บาท หากผู้นำเข้าขายวัคซีนออกไปในราคา 100 บาท โดยไม่มีการคิดกำไรเพิ่ม มีแวต 7% คิดเป็นภาษีขายที่ 7 บาทเมื่อนำมาคำนวณตามหลักภาษีมูลค่าเพิ่ม คือภาษีขาย 7 บาท หักด้วยภาษีซื้อ 7 บาท จะเท่ากับ 0 บาท ก็จะไม่มีภาระภาษีเกิดขึ้น

 

ดังนั้นผู้นำเข้าสามารถขอคืนแวต จากกรมสรรพากรได้ ขณะเดียวกัน หากผู้นำเข้าขายออกไปในราคา 200 บาท เมื่อคิดแวต 7% จะมีภาษีซื้อที่ 14 บาท เมื่อนำมาหักที่ภาษีขาย 7 บาท ส่วนต่าง 7 บาทนั้นจะต้องนำส่งให้กับรัฐ

เมื่อระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมี ความซับซ้อนและทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่บ่อยครั้ง ทำไมกรมสรรพากรไม่ยกเว้นแวตในการนำเข้าวัคซีนไปเลย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้นำเข้าวัคซีน นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากรระบุว่า ภาษีแวต เป็นกฎหมายประมวลรัษฎากรถ้าจะยกเว้นเป็นการเฉพาะ จะต้องแก้กฎหมาย ซึ่งจะมีหลายขั้นตอน อาจต้องใช้เวลานาน

ไขข้อข้องใจ  เก็บภาษีวัคซีน อยู่ขั้นตอนไหนของ ราคา โมเดอร์นา

 

ขณะที่ หากยกเว้นแวตวัคซีนไปเลย จะกระทบผู้ประกอบการจดทะเบียนในประเทศรายอื่น ที่จะมีต้นทุนสูงขึ้นเพราะขั้นตอนการฉีดวัคซีนไม่ได้จบลงแค่การนำเข้าเท่านั้น แต่อาจมีค่าจ้างอื่นเช่น ค่าขนส่ง ค่าบริการ ซึ่งหากผู้มารับจ้างต่อเหล่านั้นเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนแวตในประเทศ ก็มีสิทธิ์ที่จะขอคืนแวตได้ หากภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย 

 

แต่หากต้องตัดแวตจากการนำเข้าวัคซีนออกไป นั่นหมายความว่า ผู้ประกอบการเหล่านั้นจะไม่สามารถขอคืนแวตจากกระบวนการฉีดวัคซีนได้เลย

 

นอกจากนั้น ตามมาตรา 81(1)(ญ) แห่งประมวลรัษฎากรยังระบุว่า การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่า ด้วยสถานพยาบาล จะได้รับการยกเว้นแวต ดังนั้นโรงพยาบาลเอกชน จึงได้รับการยกเว้นแวต โรงพยาบาลเอกชน จึงไม่สามารถเรียกเก็บแวตจากวัคซีนทางเลือกที่ให้บริการแก่ประชาชนได้

 

แม้จะมีกฎหมายยกเว้นแวตสำหรับสถานพยาบาล แต่ราคาขั้นสุดท้ายที่ประชาชนตั้งจ่ายก็ยังสูงถึง 1,650 บาท โดยที่ทางโรงพยาบาลเอกชนได้ชี้แจงว่า เป็นการรวมค่าบริการต่างๆ เข้าไป ทั้งค่าบุคลากร อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงภาษีนิติบุคคลที่อัตรา 20% ด้วย

 

ประเด็นดังกล่าว กรมสรรพากรระบุว่า หากโรงพยาบาลเอกชนมีกำไรจากการประกอบการ ก็เป็นหน้าที่ปกติของผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่จะต้องเสียภาษีเงินได้จากกำไรเช่นเดียวกับผู้ประกอบการอื่นๆ อยู่แล้ว

 

ยังคงเป็นประเด็นอลเวงที่วนไปมาหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะสุดท้ายก็ยังไม่ชัดเจนว่า ที่ประชาชนจ่ายเงินจองวัคซีนโมเดอร์นาที่ราคา 1,650 บาทเพื่อได้รับการฉีดวัคซีนในเดือนตุลาคมปีนี้ จะมีวัคซีนเข้ามาทันหรือไม่ แต่ที่แน่ๆก็มีการฟ้องร้องเกิดขึ้นแล้วระหว่างอภ.กับนพ.บุญ วนาสิน 

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,696 วันที่ 15 - 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564