ธปท.ปลื้ม 9เดือนคนไทยแห่ลงทุนนอกพุ่ง 17.8พันล้านดอลล์สูงสุดในรอบ10ปี

30 มิ.ย. 2564 | 02:12 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มิ.ย. 2564 | 08:26 น.

ธปท.ปลื้มผลสำเร็จ FX Ecosystem โชว์มูลค่าธุรกรรมบัญชีFCDเพิ่มเกือบ 40% - 9เดือนคนไทยแห่ลงทุนนอกพุ่ง 17.8พันล้านดอลล์สูงสุดในรอบ10ปี

ธปท.ปลื้มผลสำเร็จ FX Ecosystem โชว์มูลค่าธุรกรรมบัญชีFCDเพิ่มเกือบ 40% - 9เดือนคนไทยแห่ลงทุนนอกพุ่ง 17.8พันล้านดอลล์สูงสุดในรอบ10ปี  เผยอยู่ระหว่างเฮียร์ริ่งก่อนปรับเกณฑ์แลกเปลี่ยนเงิน คาดมีผลบังคับใช้สิ้นปี64

 

ภายหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พยายามสร้างสมดุลระบบนิเวศอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosystem) เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของอัตราแลกเปลี่ยน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ (FX investment ecosystem) 2.การปรับหลักเกณฑ์ธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (FX regulatory framework) 3.การปรับภูมิทัศน์การแข่งขันของผู้ให้บริการธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ (FX service provider landscape) และ 4.การยกระดับการติดตามข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายเพื่อดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX surveillance and management)

ธปท.ปลื้ม 9เดือนคนไทยแห่ลงทุนนอกพุ่ง 17.8พันล้านดอลล์สูงสุดในรอบ10ปี

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย ธปท.ได้ปรับเกณฑ์ใหม่บัญชีFCD(เมื่อวันที่ 20พ.ย.2563) เป็นแบบบัญชีเดียวซึ่งทำได้หลายวัตถุประสงค์  การเปิดเสรีให้ซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อฝากในบัญชีFCD    ไม่จำกัดจำนวน หรือการเปิดให้คนไทยสามารถโอนเงินระหว่างกันได้อย่างเสรี โดยเมื่อผู้ประกอบการหรือรายย่อยได้รับเงินตราต่างประเทศไม่จำเป็นต้องรีบแลกเป็นเงินบาทโดยสามารถเก็บไว้ในบัญชีFCD จึงไม่มีแรงกดดันค่าเงินบาท หรือกรณีจะต้องใช้เงินในอนาคต สามารถซื้อเก็บไว้ได้ก่อน จึงสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นต้นทางในการที่จะช่วยต่อยอดในการสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย  เพราะการมีบัญชีFCDและมีเงินฝากจะสามารถลงทุนต่างประเทศได้ง่ายขึ้น

ดังนั้น ช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์เริ่มมีการยกเว้นเรื่องค่าธรรมเนียม การโอนระหว่างบัญชีFCDภายในธนาคารพาณิชย์เดียวกัน  จำนวนบัญชีFCDเปิดใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 1.92แสนบัญชีเพิ่มเป็น 2.03แสนบัญชี และมีจำนวนผู้ใช้ บริการFCDเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งปีที่2562 ตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ย. (ธปท.ออกมาตรการ) เทียบเดือนธ.ค.-เม.ย.2564 (ช่วงหลังการผ่อนเกณฑ์ ) ค่าเฉลี่ยของมูลค่าธุรกรรมเพิ่มขึ้นจากประมาณ 102พันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 141พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 40%เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่ง เป็นผู้ใช้บริการรายใหม่ โดยเกินครึ่งเป็นผู้ใช้บริการรายย่อย และผู้ใช้บริการรายย่อยส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของธุรกรรมทองคำซึ่งธปท.อนุญาตให้ซื้อขายเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ  นอกจากนี้ยังเห็นทุกอุตสาหกรรมเข้ามาใช้บัญชีFCDเพิ่มขึ้น  ซึ่งในระยะต่อไปธนาคารพาณิชย์อาจจะให้ทำธุรกรรมออนไลน์จะทำให้ต้นทุนของผู้ใช้บริการลดลง

ธปท.ปลื้ม 9เดือนคนไทยแห่ลงทุนนอกพุ่ง 17.8พันล้านดอลล์สูงสุดในรอบ10ปี

นางสาวชญาวดี ยังระบุว่า นอกจากเรื่องการผ่อนคลายให้เงินทุนไทยออกไปข้างนอกได้มากขึ้นแล้ว  เรื่องการติดตามดูแลการไหลของเงินทุนและพฤติกรรมของนักลงทุนมีความสำคัญมาก ซึ่งก่อนจะปรับเกณฑ์นั้นธปท.จะไม่เห็นตัวตนของนักลงทุนต่างชาติโดยมีเฉพาะข้อมูลภาพรวม และแต่ละครั้งถ้าอยากจะเห็นรายละเอียดมากขึ้นจะขอได้เพียงบางช่วงเวลาเท่านั้น แต่เมื่อธปท.เปิดให้นักลงทุนต่างชาติลงทะเบียนการลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ (Bond Investor Registration : BIR)  ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงสิ้นปี 2564 เพื่อเตรียมความพร้อมในวันที่ 4 มกราคม 2565 ผู้ที่ลงทะเบียนแล้วเท่านั้นจะสามารถซื้อขายตราสารหนี้ในประเทศไทยได้  ซึ่งภายหลังจากขอให้ผู้ซื้อและผู้ขายตราสารหนี้ต้องมาลงทะเบียนแสดงตัวตน ซึ่งเริ่มจากผู้ลงทุนที่เป็นนักลงทุนต่างชาติก่อน จากนั้นในเฟสหลังจะเป็นผู้ลงทุนคนไทยตามมา  ซึ่งตรงนี้จะทำให้ธปท.มีข้อมูลติดตามเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ดีขึ้น เป็นประโยชน์ทั้งในเรื่องติดตามพฤติกรรมของนักลงทุน เพื่อดำเนินนโยบายหรือมาตรการ ตรงจุดและสามารถใช้ข้อมูลในการพัฒนาตลาด

          อีกส่วนหนึ่งคือ การให้บริษัทต่างประเทศลงทะเบียนทำธุรกรรมได้ง่ายขึ้น ด้วยการให้บริษัทที่ทำการค้าและมีการลงทุนโดยตรงในประเทศไทยลงทะเบียนในโครงการNRQC สิ่งแรกไม่ต้องมีภาระเอกสาร  สามารถบริหารสภาพคล่องเงินบาทยืดหยุ่นขึ้น  เพราะยอดคงค้างบัญชีเงินฝากของการทำธุรกรรมไม่มีวงเงินแล้ว และในแง่ของการป้องกันความเสี่ยงสามารถใช้งบการเงินหรือประมาณการได้ โดยไม่ต้องใช้ธุรกรรมจริง ซึ่งจะทำให้การทำธุรกรรมมีขนาดและตลาดที่ใหญ่ขึ้นและมีความลึก  สามารถรองรับShockและความผันผวนจะน้อยลงด้วย  โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีบริษัทเข้าร่วมโครงการNRQC 27ราย มาจากหลายอุตสาหกรรมอาทิ ปิโตรเคมี ยานยนต์ และเทคโนโลยี  และมีธุรกรรมกับสถาบันการเงินไทยกว่า 3,000ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหวังว่าจะมีบริษัทอื่นๆที่สนใจเข้าร่วมมากขึ้นในระยะต่อไป

ธปท.ปลื้ม 9เดือนคนไทยแห่ลงทุนนอกพุ่ง 17.8พันล้านดอลล์สูงสุดในรอบ10ปี

นางสาวภาวิณี จิตต์มงคลเสมอ ผู้อำนวยการ ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า เรื่องหลักเกณฑ์การลงทุนต่างประเทศ  ซึ่งปรับหลักเกณฑ์ 3ส่วน (เมื่อปลายปี 2563) โดยหลักเกณฑ์ปรับใหม่เป็นการเพิ่มวงเงินให้ใครก็ได้นำเงินออกไปลงทุนได้ไม่เกิน 5ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยไม่มีการแบ่งประเภทผู้ลงทุนรายย่อยแล้ว 

ส่วนที่ 2 สำหรับผู้ลงทุนสถาบันภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) และการลงทุนผ่านตัวแทน โดยยกเลิกข้อกำหนดเดิมวงเงินไม่เกิน 1.5แสนดอลลาร์สหรัฐต่อปี (วงเงินFIA)ซึ่งทุกครั้งที่ผู้ลงทุนสถาบันจะออกไปลงทุนจะต้องขอวงเงินและคืนวงเงินกรณีใช้ไม่หมด ทำให้ไม่สะดวกในการออกไปลงทุนต่างประเทศ   ขณะเดียวกัน ธปท.ยังได้ปรับเกณฑ์ให้นำสินทรัพย์ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเข้ามาขายในเมืองไทย โดยขยายเป็นตราสารทางการเงินทุกสกุลเงินต่างประเทศ รวมทั้งทองคำ จากเดิมทำได้เฉพาะตราสารหนี้เท่านั้น

          “ การผ่อนคลายเกณฑ์ทั้ง 3ด้าน บวกกับสภาวะตลาดที่ค่อนข้างเอื้อต่อการลงทุนต่างประเทศ ผลตอบแทนสินทรัพย์ในต่างประเทศดี ทำให้ตั้งแต่ไตรมาส4ปีที่แล้วจนถึงเดือนพ.ค.ประมาณ 8-9เดือนคนไทยออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศกว่า 17.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่มีค่าเฉลี่ยการออกไปลงทุนต่อปีเพียง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และค่าสูงสุดต่อปีที่ 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนดัชนี Home-biasที่ปรับลดลงจาก 95%มาอยู่ที่ 93%ตัวเลขที่ปรับลดลงสะท้อนว่าคนไทยมีแนวโน้มที่จะกระจายการลงทุนไปต่างประเทศมากขึ้น และธปท.คาดหวังว่าคนไทยจะสามารถกระจายการลงทุนได้ดีขึ้น”         สำหรับรายละเอียดเงินลงทุนที่ออกไป 17.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐดังกล่าว หลักๆเป็นบุคคลรายย่อยทั่วไป 12พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  โดยที่การออกไปทั้งผ่านโบรกเกอร์ หรือกองทุนรวมและออกไปด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่เป็นการออกไปลงทุนในหุ้นเป็นหลัก และเป็นการออกไปลงทุนต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในมิติของมูลค่า  หากดูมิติของจำนวนคนก็มีการปรับเพิ่มขึ้น 2เท่าเฉพาะกลุ่มรายย่อย จากปลายปีที่แล้วอยู่ที่ 15,660 ราย เป็น 34,897 รายในตอนนี้ โดยการเพิ่มขึ้นสูงสุดผ่านแพลตฟอร์มหรือตัวกลางออนไลน์   และเริ่มเห็นการซื้อขายทองคำเป็นสกุลเงินดอลลาร์โดยชำระราคาผ่านบัญชีFCD หลังจากผ่อนเกณฑ์ให้นำสินทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศเข้ามาซื้อขายในไทยได้  อีกทั้งความนิยมเพิ่มในตราสารแสดงสิทธิ์(DR) ทำให้คนไทยลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยใช้เงินจำนวนไม่มาก อย่างไรก็ตาม ทั้งการผ่อนคลายบัญชีFCD และปรับเกณฑ์การลงทุนต่างประเทศค่อนข้างประสบความสำเร็จมีเงินทุนไหลออกเพิ่มขึ้นโดยหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการจะสร้างให้เงินทุนเคลื่อนย้ายสมดุลมากขึ้น

นางสาวภาวิณี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันธปท.อยู่ระหว่างดำเนินการคือ พยายามปรับหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงิน(FX Regulatory Framework) เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้น  เนื่องจากหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินปัจจุบันยังมีปัญหา 2 เรื่อง คือ 1. ความไม่สมดุลโดยเอื้อขาเข้า แต่เข้มขาออก   โดยขาเข้า จะเห็นว่าไทยเปิดเสรีมากอยู่ในกลุ่มเดียวกับสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ซึ่งคนจะนำเงินเข้ามาในประเทศไทยจะเพิ่มความกดดันเงินบาทให้แข็งค่า   แต่ด้านขาออก  ไทยอยู่ในกลุ่มเดียวกับจีน  อินโดนีเชีย อินเดียที่ค่อนข้างปิด ซึ่งไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย  และสัดส่วนธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงของผู้ส่งออก อยู่ที่ 19%  ขณะที่ผู้นำเข้าอยู่ที่  24%(คำนวณจากมูลค่าส่งออก นำเข้าเฉลี่ย 5ปีย้อนหลัง2559-2563) ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการป้องกันความเสี่ยงของผู้ประกอบการ ดังนั้น ธปท.อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์โดยแนวทางเบื้องต้นในการปรับจะแบ่งเป็น 3ส่วนๆแรก พยายามจะลดข้อจำกัด(ข้อห้ามต่างๆ)ในการใช้เงินตราต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างทบทวนข้อห้ามต่างๆยังจำเป็นหรือไม่  หากข้อห้ามใดไม่เหมาะในบริบทปัจจุบัน รวมถึงข้อห้ามเกี่ยวกับวงเงิน   2.เป็นเรื่องป้องกันความเสี่ยงของผู้ประกอบการ โดยพยายามจะขยายให้ผู้ที่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนแม้จะไม่ได้เป็นผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าโดยตรง ธปท.จะพิจารณาให้สามารถป้องกันความเสี่ยงได้ด้วยและ 3.จะปรับกระบวนการเรื่องการแสดงเอกสาร จากปัจจุบันกำหนดให้การทำธุรกรรมเกิน 2แสนดอลลาร์สหรัฐต้องแสดงเอกสาร โดยกำลังพิจารณาว่าถ้าเป็นธุรกรรมปกติที่ธนาคารพาณิชย์รู้จักลูกค้าเป็นอย่างดีพอแม้ยอดจะเกิน 2แสนดอลลาร์อาจไม่ต้องแสดงเอกสาร

          “แนวทางเบื้องต้นในการจะปรับทั้ง 3ส่วนอยู่ระหว่างเฮียร์ริ่งกับ Stake holder เมื่อมีรายละเอียดหรือข้อสรุปน่าจะรายงานความคืบหน้าในไตรมาสถัดไปและคาดว่าจะมีการแก้ประกาศ แก้ระเบียบให้มีผลบังคับใช้ได้ภายในสิ้นปีนี้”

 

 

 

ธปท.ปลื้ม 9เดือนคนไทยแห่ลงทุนนอกพุ่ง 17.8พันล้านดอลล์สูงสุดในรอบ10ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: