“อธิบดีสรรพากร” ชี้ถึงเวลา ”สังคายนา”ระบบราชการไทย

27 มิ.ย. 2564 | 16:43 น.
11.7 k

“เอกนิติ” อธิบดีกรมสรรพากร ชี้ระบบราชการไทยใหญ่เกิน ขับเคลื่อนช้า ถึงเวลา “สังคายนา” แนะผ่าตัดระบบให้เล็กลง ออกกฎหมายปกป้องคนทำงาน นำระบบดิจิทัลเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพ

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวในหัวข้อ Thailand Future Forum 2021 ตอนที่ 2 สู่ภูมิทัศน์ใหม่รัฐไทย โดยยอมรับว่า หากตั้งโจทย์เพื่อถามว่ารัฐที่ดีเป็นอย่างไร เป็นการตอบยากเหมือนกัน  แต่การมีหน่วยงานรัฐ เพราะมีกิจกรรมบางอย่างที่เอกชนอาจทำไม่ได้ พร้อมมองว่ารัฐทุกประเทศ รวมถึง ประเทศไทย มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย และมีบางอย่างที่ทำโดยไม่จำเป็น ซึ่งบางกิจกรรมเอกชนทำได้ แต่บางครั้งรัฐเข้าไปทำให้เอกชนทำงานยาก ดังนั้นจึงมองว่า รัฐจะต้องเล็ก ทำเฉพาะสิ่งที่ควรทำ โดยต้องอำนวยความสะดวกให้เอกชนทำหน้าที่ของเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

“ถ้ารัฐมาทำเอง กลไกตลาดจะเปลี่ยน เพราะรัฐไม่มีคู่แข่ง เอกชนเมื่อมีคู่แข่ง จะทำให้เกิดการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ความเห็นส่วนตัว รัฐควรเป็นผู้อำนวยความสะดวกและทำในสิ่งที่เอกชนทำไม่ได้” นายเอกนิติ กล่าว 

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวต่ออีกว่า ในความเป็นจริง โลกเปลี่ยนเร็ว แต่รัฐปรับตัวช้าและไม่ทัน เมื่อจะทำอะไรก็ติดกับดัก ตอนนี้โจทย์หนี้สาธารณะสูง และงบประมาณจำกัด ขณะที่จำนวนบุคคลากรมากทำให้ต้องใช้งบประมาณมากไปด้วย มีองค์กรเกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่หน่วยงานราชการที่หายไปแทบไม่มี ดังนั้นเมื่อรัฐใหญ่ขึ้น ปัญหาก็วนอยู่อ่าง

นอกจากนี้ ยังหาคนทำงานที่มีประสิทธิภาพได้น้อย เพราะเงินเดือนไม่จูงใจ ระบบมีส่วนเอื้อให้คนทำงานไม่ดี งบถูกจัดสรรน้อยลง ส่งผลต่อการปรับขึ้นเงินเดือนให้ลูกน้อง บางคนได้ขึ้นหลักร้อยบาทเท่านั้น เพราะรัฐใหญ่และจัดตามโครงสร้าง ถ้ากองไหนมีคนอายุมาก ฐานเงินเดือนสูง ก็จะได้เงินเดือนมากหน่อย เป็นโลกของระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ ฉะนั้น ความเห็นเบื้องต้น ถ้าทำได้ รัฐควรลดบทบาทและทำในสิ่งที่ควรทำ

อธิบดีกรมสรรพากร ยังกล่าวแนะแนวทาง คือ เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง เปิดให้การทำงานเป็นไปอย่างโปร่งใส และ มีประสิทธิภาพ ปกป้องและจูงใจให้มีคนกล้าทำงานและตัดสินใจบนข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่งตนคิดว่ามีความจำเป็นมาก และควรออกกฎหมายบางอย่างขึ้นมาปกป้องคนดีที่ ไม่เช่นนั้น ข้าราชการจะไม่กล้าตัดสินใจและนำปัญหาไปไว้ในอนาคต เพราะไม่ต้องรับผิดชอบ

นอกจากนี้ เราควรต้องร่วมมือกับเอกชน ภาครัฐจะทำโครงการดิจิทัลอะไรซักอย่างต้องใช้เวลาร่วม 3 ปี เมื่อถึงเวลาจัดซื้อจัดจ้าง เทคโนโลยีในขณะนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทำให้ข้าราชการไม่กล้าตรวจรับ เพราะผิดทีโออาร์ และอาจถูกโทษอาญาอีก ฉะนั้น กรรมการตรวจรับจะหายากมากในระบบราชการ ข้าราชการจึงเคลื่อนช้ามาก เมื่อเราไม่มีระบบจัดการเรื่องเหล่านี้ คิดว่า ระบบราชการจะยิ่งไม่มีประสิทธิภาพ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

สรรพากรย้ำ 30 มิ.ย. สิ้นสุดยื่นเสียภาษีออนไลน์

ยื่นภาษีไม่ทัน-เสียภาษีไม่ครบ ต้องเสียค่าปรับอย่างไร เช็กรายละเอียดที่นี่