“ทรีนีตี้” ปลื้ม!!กองทุนส่วนบุคคลทรีนีตี้ เอเชียน ไพรเวทฟันด์ รอบ3 ดันสินทรัพย์ทะลุ 500 ล้าน

23 มิ.ย. 2564 | 14:54 น.

“ทรีนีตี้” ปลื้ม!!กองทุนส่วนบุคคลทรีนีตี้ เอเชียน ไพรเวทฟันด์ รอบ3 ดันสินทรัพย์ทะลุ 500 ล้าน หลังกองทุนรอบ 2 ให้ผลตอบแทน 48.44%

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า การกระจายสินทรัพย์เพื่อลงทุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารสินทรัพย์ ยังเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุด ในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวช้าจากการกลับมาระบาดของโควิด -19 รอบ 3 ที่รุนแรงขึ้น ดังนั้นการกระจายพอร์ตการลงทุน ออกไปยังต่างประเทศยังเป็นกลยุทธ์ที่ควรทำ เพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนในอีกทางหนึ่ง

ปัจจุบันจะเห็นว่านักลงทุนได้ให้ความสนใจในการออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเพราะได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่ดี โดยเฉพาะการออกไปลงทุนผ่านกองทุน ซึ่งในส่วนของ บล.ทรีนีตี้ ที่ผ่านมาได้มีการนำนักลงทุนออกไปลงทุนต่างประเทศผ่านกองทุนส่วนบุคคลทรีนีตี้ เอเชียน ไพรเวทฟันด์ (ex-Japan) ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 2 Series นับตั้งแต่ปี 2562 และเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา บล.ทรีนีตี้ ได้เปิดขายกองทุนส่วนบุคคลทรีนีตี้ เอเชียน ไพรเวทฟันด์ (ex-Japan) : Series 3 ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จและได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างดี โดยลูกค้าเดิมเกือบทั้งหมดยังให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนอย่างต่อเนื่องและมากกว่า 50% ของลูกค้ากลุ่มนี้ ได้นำเงินมาลงทุนเพิ่ม นอกจากนี้ยังมีลูกค้ารายใหม่เป็นจำนวนมากที่ให้ความสนใจในการลงทุนกองทุนส่วนบุคคล ทรีนีตี้เอเชียนไพรเวทฟันด์ (ex Japan) Series 3 นี้ โดยสินทรัพย์รวมของกองทุนนี้ อยู่ที่  513.57 ล้านบาท

 

ทรีนีตี้

สำหรับกองทุนส่วนบุคคล “ทรีนีตี้ เอเชียน ไพรเวทฟันด์ (ex-Japan) : รอบ 3” นักลงทุนสามารถลงทุนขั้นต่ำ 2 ล้านบาท มีระยะเวลาในการลงทุน 1 ปี โดยจะเริ่มลงทุนตั้งแต่ มิถุนายนนี้ (1 มิถุนายน 2564- 31พฤษภาคม 2565) และคาดหวังผลตอบแทนตลอดระยะเวลาของการลงทุนที่ระดับ 15% กองทุนบริหารงานโดย AZIM Singapore เป็นกองทุนปิดที่มีนโยบายลงทุนหุ้นในภูมิภาคเอเชีย ยกเว้น ญี่ปุ่น (Asia ex-Japan) มีการบริหารกองทุนแบบ Active Fund ที่เลือกลงทุนหุ้นที่มีคุณภาพ มีการเติบโตและมีมูลค่าเพิ่ม โดยผู้จัดการกองทุน จะปรับเปลี่ยนหุ้นในพอร์ตไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากปัจจัยแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการลงทุนที่ผ่านมานั้น กองทุนมีการลงทุนในสินทรัพย์เป็นสัดส่วน    เช่น ลงทุนหุ้นกลุ่มวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิต 23.95% กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ 18.30%  กลุ่มคอนซูเมอร์ 11.08% กลุ่มสื่อสาร 9.55% และกลุ่มพลังงาน 9.38% ซึ่งเป็นการปรับสัดส่วนจากเดิมที่ให้น้ำหนักการลงทุนมากในกลุ่มเซมิคอนดัคเตอร์และเทคโนโลยีไฮเทค เป็นต้น

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ด้วยกลยุทธ์การบริหารกองทุนในลักษณะนี้ทำให้ผลการดำเนินงานของกองทุน ส่วนบุคคลทรีนีตี้ เอเชียน ไพรเวทฟันด์ (ex-Japan) ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจมาโดยตลอด โดยในปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 – พฤษภาคม 2564 (Series 2) ให้ผลตอบแทนทั้งสิ้น 48.44% ขณะที่ Benchmark ให้ผลตอบแทน 48.53% และหากนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน ในเดือนพฤษภาคม 2562 ถึงปัจจุบัน ให้ผลตอบแทนแล้วถึง 57.36% ขณะที่ Benchmark ให้ผลตอบแทน 31.66%  ดังนั้นจึงทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นและสนใจลงทุนในกองทุนนี้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน