วิกฤติหนี้ครัวเรือน หลอนเศรษฐกิจไทย

19 มิ.ย. 2564 | 11:45 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มิ.ย. 2564 | 07:59 น.
1.0 k

"นี้ครัวเรือน” ถือเป็นความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่ทางการ ให้ความสำคัญมาโดยตลอด เหตุเพราะตัวเลขหนี้ทรงตัวในระดับสูงแตะ 80% ของจีดีพี มาอย่างต่อเนื่อง

หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อช่วงต้นปี 2563 มีการล็อดดาวน์ประเทศ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักลง กระทบต่อรายได้ของครัวเรือน ขณะที่รายจ่ายยังทรงตัวหรือเพิ่มขึ้น ทำให้ระดับ หนี้ครัวเรือน ที่เคยอยู่ที่ 13.49 ล้านล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2562 หรือ 79.8% ของจีดีพี กระโดดขึ้นมาที่ 14 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.3% ของจีดีพี สูงสุดในรอบ 18 ปี

 

ล่าสุดหลังโควิด-19 ระลอก 3 ประทุขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน ซึ่งรุนแรงและกระจายวงกว้างกว่า 2 ครั้งแรกมาก ล่าสุดก็ยังไม่สามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สำรวจสถานการณ์หนี้สินของครัวเรือนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2564 จำนวน 300 ตัวอย่างพบว่า   สัญญาณหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

ทั้งนี้พบว่า สถานการณ์หนี้ถดถอยลงหลายส่วน เช่น  บัญชีสินเชื่อต่อรายเพิ่มขึ้น,ภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio-DSR : DSR)ต่อเดือนปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 46.9% จากเดือนมีนาคมอยู่ที่ 42.8% ซึ่งหมายความว่า รายได้ทุกๆ 100 บาท จะต้องจัดสรรไปเป็นภาระจ่ายหนี้ทั้งเงินต้นและอัตราดอกเบี้ยเกือบครึ่ง หรือ 50% ซึ่งกดดันรายได้ที่ไม่ปกติอยู่แล้ว เนื่องจากต้องเผชิญปัญหาการถูกลดชั่วโมงการทำงานลง หรือ รายได้ที่ปรับลดลง  แม้ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือต่างๆก็ตาม

 

ขณะเดียวกันในเดือนมิถุนายนยังพบว่า มีสัดส่วนผู้ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่ม 39% ส่วนที่ยังไม่เข้ามาตรการ  61% นั้น ยังตระหนักถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนของรายได้ แต่กว่าครึ่งยังสนใจจะเข้ามาตรการช่วยเหลือทางการเงินในอนาคต

ที่สำคัญเมื่อพิจารณาหนี้สินภาคครัวเรือนในกลุ่มเปราะบางคือ กลุ่มที่ภาวะการเงินกำลังวิกฤติ จาก 3 เงื่อนไขคือ รายได้ลดลง, ค่าใช้จ่ายทรงตัวหรือปรับเพิ่มขึ้นและสัดส่วน DSR มากกว่า 50% โดยพบว่า กลุ่มดังกล่าวนี้ มีสัดส่วนเพิ่มจาก 10.8% จากเดือนมีนาคมเป็น 22.1% โดยรายที่ปริ่มเกณฑ์ในแง่ที่สัดส่วน DSR ซึ่งอยู่ในช่วง 41-50% ไหลเพิ่มขึ้นเป็นกลุ่มที่มีหนี้เกิน 50% เพิ่มขึ้นมาที่เกือบ 40%

 

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มเล็กน้อยคาดว่าสิ้นปีจะแตะระดับ 90% จาก 89.3% เมื่อสิ้นปีก่อนและคงจะเป็นประเด็นที่ต้องกลับมาหารืออย่างจริงจัง หลังผ่านสถานการณ์โควิดหรือเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว

 

เงินให้กู้ยืมแก่ภาคหนี้ครัวเรือน

 

“หนี้ครัวเรือน” จึงถูกหยิบยกมาหารืออีกครั้งหนึ่ง โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อยให้กับประชาชนกลุ่มต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 3.6 ล้านคน และผู้คํ้าประกันอีก 2.8 ล้านคน หนี้้ครูและข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี หนี้เช่าซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ 6.5 ล้านบัญชี หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ล้านบัญชี และปัญหาหนี้สินอื่นๆของประชาชน 51.2 ล้านบัญชี

งานนี้กระทรวงการคลังรับนโยบายทันที เพื่อให้มาตรการระยะสั้นมีผลในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน เพื่อลดการดำเนินคดีกับประชาชนเช่น หนี้กยศ. หนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หนี้สหกรณ์  การลดภาระดอกเบี้ยของประชาชน ทั้งสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อ PICO และ NANO สำหรับประชาชน การปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของครูและข้าราชการ รวมถึงสหกรณ์ ปรับรูปแบบการชำระหนี้ รวมถึงปรับลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ไม่จำเป็นยกระดับการกำกับดูแล เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) คุ้มครองความเป็นธรรมให้ประชาชนที่เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์

 

การขอความร่วมมือธปท.ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ยและการกำกับดูแลบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียน  การกำกับดูแลไม่ให้การบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อของสถาบันการเงินหรือสหกรณ์ สร้างภาระแก่ผู้กู้จนเกินสมควร และเพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยและ SMEs เช่น จัดให้มี softloan สำหรับ SME ที่เป็น NPLs เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ การเพิ่มจำนวนโรงรับจำนำและโรงรับจำนอง

จากนี้คงต้องตามดูว่า มาตรการลดภาระหนี้รายย่อยอะไรจะออกมาก่อนหลัง 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,689 วันที่ 20 - 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: