ปัจจัยที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง

15 มิ.ย. 2564 | 11:10 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มิ.ย. 2564 | 11:12 น.
3.1 k

ปัจจัยที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง : คอลัมน์ มันนี่ ดี ไอ วาย โดย ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีมีการฟื้นตัวกลับมาที่ระดับเหนือ 1,500 จุด โดยมีปัจจัยหนุนจากพัฒนาการเชิงบวกของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้นหนุนภาพการส่งออกไทยให้ขยายตัวตามประเทศคู่ค้าสำคัญ ผสานกับการควบคุมการแพร่ระบาดและการกระจายการฉีดวัคซีน Covid-19 ได้ดีในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่งผลให้ประเทศเหล่านั้นกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง

 

รวมถึงผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ที่รายงานกำไรที่มีการฟื้นตัวได้ดีขึ้น ซึ่งโดยรวมรายงานมาสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ในช่วงต้นปี โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และสินค้าโภคภัณฑ์

 

อย่างไรก็ตาม การระบาดของ Covid-19 ในระลอก 3 ที่เริ่มกระจายตัวในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสายพันธุ์อังกฤษที่มีการกระจายตัวได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม ทำให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากในเวลาอันสั้นซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไทย และสร้างผลกระทบเชิงลบต่อ เศรษฐกิจไทย เป็นอย่างมาก ทั้งยังเป็นการกดดันต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2

 

ประกอบกับความกังวลในเรื่องอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นฉุดให้ตลาดพันธบัตรปั่นป่วนทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นและสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ซื้อขายที่มูลค่า (valuation) สูงถูกเทขายอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้มีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะการควบคุมการแพร่ระบาดของ Covid-19 และแผนการฉีดวัคซีนเพื่อที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ของประเทศไทย รวมถึงการปรับลดการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative easing tapering) ของธนาคารกลางต่างๆ  แม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะในภาคการผลิต ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการส่งออกของโลกรวมถึงประเทศไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

 

สอดคล้องกับคาดการณ์ของสภาพัฒน์ที่ประเมินว่า ปีนี้มูลค่าการส่งออกไทยในรูปของดอลลาร์สหรัฐฯ จะเติบโต 10.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่ละประเทศนั้น ก็มีการฟื้นตัวที่ต่างกัน โดยในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มการฟื้นตัวได้เร็วกว่าจากอานิสงค์ของความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและเม็ดเงินจากมาตรการภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

 

ขณะที่ภาพการเปิดประเทศในเอเชียยังขาดความชัดเจนเนื่องจากหลายประเทศยังเผชิญการแพร่ระบาดอยู่ ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน และไทย ทั้งยังรวมถึงการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างช้า ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้ากว่าและการเปิดประเทศล่าช้าออกไป ส่งผลกระทบต่อประเทศที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวสูงโดยเฉพาะไทย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2021 เหลือ 1.9% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 2.6% เพื่อสะท้อนผลกระทบของการระบาดในระลอกที่ 3

 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ปัจจัยสนับสนุนภายในประเทศที่สำคัญที่สุดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คือ การเร่งฉีดวัคซีน เพื่อหนุนให้อัตราการติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศปรับตัวลดลง และเพิ่มโอกาสในการเปิดประเทศได้ตามแผนที่วางไว้ ทั้งยังเป็นการกระตุ้นความเชื่อมั่นในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติมากขึ้นอีกด้วย โดยภาครัฐตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 70% ของประชากร รวมทั้งการนำเข้าวัคซีนทางเลือกโดยโรงพยาบาลเอกชน เพื่อที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้สำเร็จภายในปี 2564

 

บวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ อาทิเช่น มาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมวงเงินราว 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้เม็ดเงินใน พรก.กู้เงิน 1  ล้านล้านบาทจนครบวงเงิน และการออก พรก.กู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท โดยมีการจัดสรรทางด้านสาธารณสุข การแก้ปัญหาการระบาดโรค covid-19 มูลค่า 30,000 ล้านบาท มาตรการเยียวยาและชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ มูลค่า 300,000 ล้านบาท รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศ มูลค่า 170,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ราว 1.5%

 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงหลักที่ควรจับตามองในช่วงครึ่งหลังของปี ได้แก่ 1) ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 และการกลายพันธุ์ของเชื้อ 2) เงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มส่งผลต่อการตัดสินใจต่อดอกเบี้ยนโยบายและการลด QE รวมทั้งแนวโน้มดอกเบี้ยพันธบัตรที่อาจปรับขึ้นแรง 3) นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของ โจ ไบเดน ที่อาจส่งผลต่อประเทศอื่น ๆ เช่นการขึ้นภาษีนิติบุคคล และ 4) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกช้ากว่าคาดจากการทำสงครามการค้า และการกีดกันทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน จากท่าทีของ Biden ที่ยังไม่ผ่อนแรงกดดันต่อจีนลง 

 

จากนี้ไปคาดการณ์ว่า การลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะพักฐานและค่อย ๆ ฟื้นตัว นักลงทุนจะให้ความสำคัญที่ปัจจัยพื้นฐานและความสามารถในการแข่งขันระยะยาว การปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อภาพความสามารถในการแข่งขันหลัง Covid-19 และได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ส่วนผลตอบแทนของตลาดจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ใช้ในการกลับคืนสู่ภาวะปกติ ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และความสำเร็จในการเปิดเมืองในช่วงต้นปีหน้า ดังนั้นการปรับขึ้นของหุ้นในแต่ละกลุ่มจึงมีช่วงเวลาที่ต่างกันตามสภาวะปัจจัยพื้นฐานที่หนุนให้กลับเข้าไปซื้อหุ้นในจังหวะต่าง ๆ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: