ทิสโก้ ช่วยลูกค้าธุรกิจฝ่าโควิด 'ลดภาระหนี้-ให้เงินกู้เพิ่มดอกเบี้ยต่ำ'

06 มิ.ย. 2564 | 05:09 น.

ธนาคารทิสโก้ ช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู - พักทรัพย์พักหนี้


นายเมธา ปิงสุทธิวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs ดังนั้น เพื่อเร่งช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้  ธนาคารทิสโก้จึงร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูลูกค้าผู้ประกอบธุรกิจผ่าน 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้  

สำหรับมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู จะมุ่งให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจที่ยังมีศักยภาพในการดำเนินกิจการ แต่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มีรายได้ลดลงและขาดสภาพคล่อง โดยจะให้ความช่วยเหลือลูกค้ารายเดิมที่มีวงเงินสินเชื่อเพื่อธุรกิจกับธนาคารทิสโก้ และลูกค้ารายใหม่ด้วยการให้เงินกู้เพิ่ม และปรับอัตราดอกเบี้ยให้เอื้อต่อการฟื้นฟูกิจการ โดยลูกค้ารายเดิมจะกู้ได้สูงสุด 30% ของวงเงินเดิม และลูกค้ารายใหม่กู้ได้สูงสุด 20 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ใน 2 ปีแรก และอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปี ไม่เกิน 5%  โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ในระยะ 6 เดือนแรก ไม่มีค่าธรรมเนียมการจัดการเงินกู้ และค้ำประกันสินเชื่อโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ซึ่งมีค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี ตลอด 5 ปี 

มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ หรือ Asset Warehousing จะมุ่งช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว โดยการหยุดหรือลดภาระหนี้ภายใต้เงื่อนไขสัญญามาตรฐาน ด้วยการให้สิทธิชำระหนี้ โดยการโอนทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน และสามารถใช้สิทธิในการซื้อทรัพย์ดังกล่าวคืน ซึ่งจะช่วยลดภาระหนี้ในสถานการณ์ปัจจุบัน และเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ลูกค้า 

ในการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการข้างต้น ธนาคารจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อของธนาคาร โดยพิจารณาจากผลกระทบที่ลูกค้าได้รับ และศักยภาพที่จะกลับมาดำเนินธุรกิจได้เมื่อสถานการณ์คลี่คลายเป็นสำคัญ 

“จากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและยังมีความไม่แน่นอนสูง ธนาคารมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือและพร้อมให้คำปรึกษาแนะนำแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ ภายใต้มาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูตามที่กล่าวไปข้างต้น รวมถึงพิจารณามาตรการอื่นตามความเหมาะสมกับลูกค้าในแต่ละกลุ่ม เพื่อประคับประคองลูกค้าให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้” นายเมธา กล่าว