เดอะ มอลล์ ผนึก 6 แบงก์ ช่วยลูกค้า

31 พ.ค. 2564 | 14:00 น.

เดอะมอลล์ กรุ๊ป ขานรับนโยบายธปท. จับมือ 6 แบงก์ ช่วยลูกค้ากว่า 6,000 รายให้เข้าถึงถึงสินเชื่อฟื้นฟู เสริมสภาพคล่องทางการเงิน

นางสาวศุภลักษณ์  อัมพุช  ประธานกรรมการบริหาร  บริษัท  เดอะมอลล์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า  เดอะมอลล์กรุ๊ป ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฝ่าวิกฤตโควิด-19  ด้วยมาตรการความช่วยเหลือในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง  นับแต่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา

ศุภลักษณ์  อัมพุช  ประธานกรรมการบริหาร  บริษัท  เดอะมอลล์ กรุ๊ป

ล่าสุด  เดอะมอลล์ กรุ๊ป  ได้ออกมาตรการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” ร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำ 5 แห่งคือ  ธนาคาร กรุงไทย ธนาคาร กรุงเทพ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ ธนาคาร กสิกรไทย ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา และธนาคาร ออมสิน ร่วมเป็นพันธมิตร เพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการ ร้านค้า ซัพพลายเออร์ SMEs  ผู้ประกอบการรายย่อย กว่า 6,000 ราย  ได้เข้าถึง สินเชื่อฟื้นฟู  เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย  และรักษาการจ้างงาน เพื่ออนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

 

“ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ในฐานะผู้บริหารศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์,  ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์ และสยามพารากอน  มีความตั้งใจมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะดูแลช่วยเหลือคู่ค้า ผู้ประกอบการ  ร้านค้า ซัพพลายเออร์ SMEs  และผู้ประกอบการรายย่อย รวมกว่า 6,000 ราย  พร้อมเดินหน้าเป็นตัวกลางในการประสานระหว่างทุกกลุ่ม กับธนาคารพาณิชย์ชั้นนำทั้ง  6  แห่ง “นางสาวศุภลักษณ์กล่าว 

 

ทั้งนี้ เดอะมอลล์ กรุ๊ป จะเป็นตัวกลางประสานงานรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นของผู้ประกอบการธุรกิจ ร้านค้า ซัพพลายเออร์ SMEs  ที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูให้กับแต่ละธนาคาร   และประสานการจัดประชุมในวาระต่อไป  ระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจกับแต่ละธนาคาร  เพื่อรับทราบมาตรการ ข้อมูลและรายละเอียด เพื่อให้ได้รับการพิจารณาวงเงินได้อย่างรวดเร็ว  จากนั้นธนาคารจะติดต่อตรงกับผู้ประกอบการธุรกิจที่ยื่นขอวงเงินแต่ละราย  โดยที่เดอะมอลล์ กรุ๊ป จะอำนวยความสะดวกในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงกันระหว่างผู้กู้และธนาคาร 

สานพลังเพื่อคู่ค้า เดอะมอลล์

นายผยง ศรีวณิช  ประธานสมาคมธนาคารไทย และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า  ธุรกิจค้าปลีก มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เม็ดเงินจำนวนมากหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ มีผู้ประกอบการ SMEs  ที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทยเกี่ยวข้องถึง 2.5 ล้านราย  หรือประมาณ 81% ของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งประเทศ  และเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการจ้างงานมากที่สุด ถึง 9 ล้านคน คือเป็น 77% ของการจ้างงานในภาค SMEs หรือมากถึง 54% ของการจ้างงานทั้งหมด

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย

ความร่วมมือระหว่างเดอะมอลล์กรุ๊ปและภาคสถาบันการเงินครั้งนี้  นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าที่เป็นคู่ค้า และพันธมิตรของเดอะมอลล์กรุ๊ปกว่า  6,000 ราย  ให้มีสภาพคล่องทางการเงิน  ประคองธุรกิจ รักษาการจ้างงานให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้

 

ธนาคารกรุงไทย พร้อมช่วยเหลือผ่าน  2 มาตรการคือ 1. “สินเชื่อฟื้นฟู” เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปีในช่วง 2 ปีแรก ผ่อนชําระสูงสุดไม่เกิน 10 ปี    2. สินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียน สำหรับคู่ค้าของเดอะมอลล์กรุ๊ป  ซึ่งเป็นวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี โดยให้วงเงินตามธุรกรรมการค้า ข้อดีของสินเชื่อประเภทนี้คือ  ใช้หลักประกันต่ำ และได้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ เริ่มต้น MRR สามารถกู้ได้สูงสุด 20 ล้านบาท 

สานพลังเพื่อคู่ค้า เดอะมอลล์

อีกทั้งยังสามารถใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันร่วมกับการใช้หลักทรัพย์อื่นได้  อย่างไรก็ตาม ลูกค้าสามารถขอสินเชื่อ โดยไม่มีหลักประกันได้เช่นเดียวกัน  โดยมีวงเงินเริ่มต้นอยู่ที่ 1 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดธุรกิจและความต้องการใช้วงเงินของคู่ค้า สำหรับคู่ค้าของเดอะมอลล์ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการ สามารถลงทะเบียนได้ที่ www.krungthai.com/link/themallgroup

 

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า  ธนาคารกรุงเทพมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  คือ 1.เพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการประคับประคองธุรกิจไว้ และรักษาการจ้างงาน  และ 2.เพื่อฟื้นฟูธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการ Restart ธุรกิจให้เดินหน้าได้ตามศักยภาพเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย

 

สินเชื่อฟื้นฟูตามมาตรการของธปท. และกระทรวงการคลังในครั้งนี้ มีเงื่อนไขที่ค่อนข้างยืดหยุ่นและเปิดกว้างขึ้น คือ อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ให้วงเงินสูงขึ้น ระยะเวลากู้ยาวขึ้น วงเงินสูงขึ้น และเปิดกว้างขึ้นทั้งสำหรับรายใหม่ที่ไม่เคยกู้ และ SME ที่ไม่มีหลักประกัน โดยธนาคารกรุงเทพตั้งเป้าสำหรับการให้สินเชื่อตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ของธนาคารแห่งประเทศไทยไว้ 15,000 ล้านบาท

 

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า  นอกจากสินเชื่อซอฟต์โลนภายใต้โครงการสินเชื่อฟื้นฟู แล้ว ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังเตรียมสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นคู่ค้าของเดอะมอลล์ กรุ๊ป โดยเฉพาะ รวมถึงโซลูชันทางธุรกิจต่าง ๆ ที่จะช่วยผู้ประกอบการรายย่อย “ลดรายจ่าย-เพิ่มยอดขาย-ขยายกิจการ”

มาตรการช่วยเหลือลูกค้า ไทยพาณิชย์

 

 

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทยหรือ KBANK กล่าวว่า  KBank เป็นธนาคารที่ได้ชื่อว่าเด่นเรื่อง  SME  จึงมีโครงการช่วยเหลือ ทั้งที่เป็นมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูของธปท. และที่จัดเพิ่มเติมให้เองอีก สำหรับลูกค้า ทั้งลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อยในรูปแบบต่างๆ มากมาย  ในครั้งนี้ ยังได้เตรียมวงเงินเข้าร่วมอีก 15,000 ล้านบาท  หวังว่าจะช่วยลูกค้าได้กว่า 10,000 ราย  และเตรียมพนักงานกว่า 3,000  คน เพื่อติดต่อลูกค้า SME ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศด้วย

 

นายพรสนอง ตู้จินดา ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารแบ่งการดูแลลูกค้า ออกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงที่ 1 เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการยังคงเผชิญความยากลำบากจากผลกระทบของโควิด-19 จึงมีมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ รวมทั้งมีมาตรการเพิ่มเติมจากกรุงศรีเอง สำหรับลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ เช่น  2 พัก 3 ปรับ คือ พักชำระเงินต้น พักชำระค่างวด ปรับลดจำนวนเงินผ่อนชำระ  ปรับลดอัตราดอกเบี้ย และปรับประเภทวงเงินสินเชื่อ  พร้อมทั้งช่วยปรับแผนธุรกิจให้ลูกค้า

มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา

ช่วงที่ 2 เมื่อลูกค้าผ่านพ้นวิกฤตมาได้หรือได้รับผลกระทบน้อย กรุงศรีก็มีสินเชื่ออื่นๆ เพื่อช่วยให้ธุรกิจดำเนินได้อย่างราบรื่นมากขึ้น เช่น สินเชื่อ SME Quick Loan เป็นสินเชื่อระยะยาวแบบมีหลักประกัน ให้วงเงินสูงสุดถึง 15 ล้านบาท  ดอกเบี้ยคงที่ 5% ต่อปี 2 ปีแรก  เลือกผ่อนชำระได้ยาวถึง 10 ปี สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยทั้งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา

 

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสินกล่าวว่า ธนาคารออมสิน มุ่งหวังที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงพนักงานและลูกจ้าง SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้สามารถประคับประคองธุรกิจและวิถีชีวิตประจำวันให้ผ่านช่วงเวลาวิกฤตินี้ไปได้ ผ่านการเสริมสภาพคล่องแก่ธุรกิจ

 

ทั้งมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจ  โดยปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่ 2% ต่อปี (2 ปีแรก) และยังจัดทำมาตรการพิเศษอื่นที่เป็นสินเชื่อผ่อนปรนและลดดอกเบี้ยเป็นพิเศษอีกหลายโครงการ เพื่อช่วยเหลือเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ทั้ง สินเชื่อ Soft Loan ช่วยเหลือ SMEs ภาคการท่องเที่ยวและภาคธุรกิจอื่น วงเงินให้กู้สูงสุด 500.000 บาท อัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี  สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน โดยใช้ที่ดินเปล่าหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นหลักประกัน หรือไถ่ถอนจำนองจากสัญญาขายฝาก คิดดอกเบี้ยปีแรก 0.10% ต่อปี ปีที่ 2 เท่ากับ 0.99%ต่อปี

 

ล่าสุดสินเชื่อเพื่อผู้เช่าและผู้ประกอบการธุรกิจ Supply Chain ในเครือข่ายของ บจ. เดอะมอลล์ กรุ๊ป อัตราดอกเบี้ย MOR-1% ต่อปี ส่วนพนักงานและลูกจ้างของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ อาจเข้าร่วมในโครงการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ตามสิทธิ์ที่ปรากฎในแอป MyMo วงเงินให้กู้ไม่เกิน 10,000 บาท ปลอดชำระ 6 งวดแรก (ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ที่ธนาคารฯ ร่วมกับ บจ. เงินสดทันใจ จัดโปรโมชัน 2 เดือน ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือเพียง 0.49% ต่อปี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: