DTC Transform ครั้งที่ 2: เปิดกลยุทธ์ธุรกิจการเงิน ฝ่าวิกฤติ-หนุนการเติบโต

28 พ.ค. 2564 | 13:00 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ค. 2564 | 18:24 น.
627

“เราต้องหา New Ocean และ Blue Ocean เพื่อหารายได้และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธนาคารในระยะข้างหน้า” แพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)

การบริหารธุรกิจ ท่ามกลางวิกฤติไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ถือเป็นโจทย์ที่ยากมากสำหรับภาคธุรกิจ  โดยเฉพาะภาคการเงิน การธนาคาร  ขณะเดียวกันอีกด้าน ก็ยังต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้น ในการรับบทบาทสำคัญ ในการเข้าไป “ช่วยเหลือ” ลูกค้า และธุรกิจ ให้สามารถอยู่รอดท่ามกลางวิกฤติ พร้อม รวมถึงหากโอกาสการเติบโตในอนาคต

แพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจ ท่ามกลางโควิด-19 ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายมากขึ้น สำหรับภาคการเงิน ตลาดเงิน และตลาดทุน

การปรับตัวให้ “อยู่รอด” ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากและสิ่งที่ธนาคารไทยพาณิชย์ยึดถือ คือการเซฟลูกค้า เซฟพนักงานให้มากที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่า ธนาคารสามารถดูแลพนักงาน ดูแลลูกค้าให้ปลอดภัย และยังสามารถทำธุรกรรม ทำธุรกิจได้ ท่ามกลางข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้น

ในด้านการดูแล “พนักงาน”ไทยพาณิชย์ให้ความสำคัญอันดับหนึ่ง โดยมีนโยบายให้พนักงาน Work from home หรือทำงานอยู่บ้านในภาวะฉุกเฉิน ดังนั้นในส่วนการให้บริการห้องค้าเงินก็ต้องให้แน่ใจว่า พนักงานจะมีอุปกรณ์ที่ครบ พนักงานต้องมีความพร้อม และยังสามารถทำธุรกรรมและให้บริการลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม แม้จะเป็นการให้บริการผ่านออนไลน์ก็ตาม  ซึ่งที่ผ่านมาไทยพาณิชย์มีการทรานส์ฟอร์มไปสู่ดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าทำได้ดีที่ผ่านมา แต่ก็จะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น ความ “เข้าใจ”เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเราคงไม่สามารถมองแค่ในมุมธุรกิจได้อย่างเดียว แต่เรื่อง “คน” หรือพนักงาน เป็นเรื่องที่ไทยพาณิชย์ให้ความสำคัญมาก ต้องดูแลพนักงานทุกส่วน ทั้งร่างกายและจิตใจ ให้พนักงานรู้สึกว่า “ไม่ถูกทิ้ง” ซึ่งถือเป็นโฟกัสในการบริหารคนของธนาคาร เพราะเชื่อว่า เมื่อพนักงาน มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี จะทำให้มีประสิทธิภาพการทำงานจะดีขึ้น นั่นคือ Benefit หรือประโยชน์ที่ธนาคารจะได้มากกว่า “เสีย”

“ธนาคารต้องบาลานซ์ให้ดี ภายใต้วิกฤติ ระหว่างความปลอดภัย และการดำรงความสามารถในการแข่งขันในตลาดให้ยังคงอยู่ แม้การแข่งขันในตลาดเงินจะร้อนแรงและเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่หากธนาคารปรับตัวได้เร็ว ก็สามารถมีมาร์เก็ตแชร์ที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งเป็นช่องทางแห่งการสร้างการเติบโตเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าได้”

ในด้านการทำธุรกิจ ในส่วนตลาดเงิน แน่นอนว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตลาดเงิน ตลาดทุนมีความผันผวนรุนแรง และคาดการณ์ได้ยากขึ้น ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้การบริหารอัตราแลกเปลี่ยนมีความท้าทายสูงขึ้น  ดังนั้นการเข้าไปดูแลช่วยเหลือลูกค้าให้มากที่สุดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

ส่วนการดำเนินธุรกิจและเป้าหมายการดำเนินธุรกิจของธนาคาร ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ ทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แม้เผชิญความท้าทายมากขึ้น

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติม คือการหากลยุทธ์ในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น หรือ New income เพิ่มขึ้นในอนาคต ดังนั้นเราต้องหา New Ocean และ Blue Ocean เพื่อหารายได้และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธนาคารในระยะข้างหน้าให้มากขึ้น

“การอยู่รอดจากวิกฤตินี้ ต้องอาศัยการร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อช่วยเหลือลูกค้าของเราให้มากที่สุด ผ่านมาตรการที่มีอยู่ เพื่อให้ลูกค้าและธนาคารอยู่รอดร่วมกัน ดังนั้นเราต้องหาบาลานซ์ตรงกลางให้เจอ เราต้องเดินต่อไป และประคองให้ลูกค้าผ่านวิกฤติไปได้ ตรงนี้สำคัญมาก”

อีกบริษัทที่อยู่ใน “ธุรกิจไฟแนนซ์” ที่ยอมรับว่า การบริหารธุรกิจ ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่องค์กรจะปรับตัวและสร้างการเติบโตก้าวต่อไป