DTC Transform ครั้งที่ 2 : เปิดกลยุทธ์ธุรกิจการเงิน ฝ่าวิกฤติ-หนุนการเติบโต

28 พ.ค. 2564 | 12:00 น.

“เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาเสริมประสิทธิภาพการทำงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะ 3 ปีนี้” “วิรัตน์ ชินประพินพร” ประธานกรรมการ บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ THANI

การบริหารธุรกิจ ท่ามกลางวิกฤติไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ถือเป็นโจทย์ที่ยากมากสำหรับภาคธุรกิจ  โดยเฉพาะภาคการเงิน การธนาคาร  ขณะเดียวกันอีกด้าน ก็ยังต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้น ในการรับบทบาทสำคัญ ในการเข้าไป “ช่วยเหลือ” ลูกค้า และธุรกิจ ให้สามารถอยู่รอดท่ามกลางวิกฤติ พร้อม รวมถึงหากโอกาสการเติบโตในอนาคต

“วิรัตน์ ชินประพินพร” ประธานกรรมการ บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ THANI กล่าวว่า “บุคลากร” เป็นหัวใจสำคัญของเราที่จะสนับสนุนการเติบโตต่อไปด้วยหลักคิดดูแลพนักงานให้สามารถทำงานที่บ้านได้อย่างมีความสุข มีรายได้มากขึ้น พร้อมนำดิจิทัลเข้ามาผสมผสานการทำงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยองค์กรลดต้นทุนและทำกำไรดีขึ้น

นอกจากนี้คณะผู้บริหาร ยังมีแนวคิดลดพื้นที่สำนักงานและนำค่าเช่าส่วนนั้น มาชดเชยเป็นค่าใช้จ่ายสวัสดิการอื่นๆ ให้กับพนักงาน เช่น ค่าน้ำค่าไฟที่บ้าน ซึ่งอาจเริ่มพิจารณาบางแผนกที่ทำได้ก่อน

ภาพรวมธุรกิจลิสซิ่ง “ตลาดรถบรรทุก”ในช่วงโควิด-19 ระลอก 3 ยังโตดีจากกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ เกษตร คอมเมิร์ซ เพราะไม่มีล็อกดาวน์ช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยยังค้าขายได้ดี  โดยในไตรมาส 1 ปี 2564 ยอดขายรถบรรทุกโตสูง 30-40% แต่ในไตรมาส 2 ปีนี้ แนวโน้มยอดขายอาจชะลอลงบ้าง แต่เชื่อในครึ่งหลังปีนี้ยอดขายน่าจะกลับมาโตดีขึ้น หลังกระจายวัคซีนมากขึ้นและเริ่มเปิดเมืองในบางจังหวัดท่องเที่ยวแล้ว
 

ด้านการแข่งขันในตลาดนี้ มองว่า ยังไม่รุนแรง สถาบันการเงินขนาดใหญ่ยังไม่ได้เข้ามาทำตลาดมากนัก เพราะเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มที่ต้องอาศัยความชำนาญขณะที่บริษัทเป็นผู้นำในตลาดนี้ ทั้งการปล่อยสินเชื่อและคุมคุณภาพหนี้ที่ดีนับเป็นจุดแข็งสร้างความได้เปรียบ แต่บริษัทต้องเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาเสริมประสิทธิภาพการทำงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะ 3 ปีนี้ (ปี 2564-2566) วางงบลงทุนไว้ราว 200 ล้านบาท

สำหรับแผนธุรกิจปี2564 “วิรัตน์” มั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย  โดยจะมียอดปล่อยสินเชื่อใหม่ 24,000 ล้านบาท โต 30% จากปี2563 อยู่ที่ 18,000 ล้านบาท  และสินเชื่อคงค้างมากกว่า 50,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 47,000-48,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนรถบรรทุก 70% ที่เหลือเป็นรถหรูสัดส่วน 25% และรถจักรยานยนต์สัดส่วน 5%”

ในด้านการ วางกลยุทธ์ขยายสินเชื่อมุ่งกลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าวที่โตดี ด้วยดอกเบี้ยที่จูงใจ ปัจจุบันเฉลี่ยที่ 7% ต่อปี ยอดสินเชื่อเฉลี่ยต่อรายที่ 1 ล้านบาท รวมถึงช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ทั้งปรับโครงสร้างหนี้และยืดเวลาชำระหนี้สูงสุดไม่เกิน 90 วัน พร้อมแนะนำลดหนี้และเพิ่มสภาพคล่อง ช่วยลูกหนี้ดำเนินธุรกิจต่อไป โดยไม่เป็นหนี้เสีย ปัจจุบันยังคุมหนี้เสียต่ำกว่า 4 % ได้ตามเป้า

นอกจากนี้ภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยผลักดันรายได้โตต่อเนื่องและรักษาการทำกำไรไม่ต่ำกว่าปีก่อน  ซึ่งในไตรมาส 1 ปี 2564 บริษัทปล่อยสินเชื่อใหม่ ได้เกินเป้า 5% ที่ 5,800 ล้านบาท หรือโต 20% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรที่ 427 ล้านบาท ใกล้เคียงช่วงเดียวกันปีก่อน และไตรมาส 2 คาดน่าจะรักษาการโตต่อเนื่องได้อยู่

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ น่าจะกลับปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะหนุนให้ในช่วง3 ปี (2564-2566) บริษัทมียอดปล่อยสินเชื่อใหม่โตเฉลี่ยปีละ 15-20% และสินเชื่อคงค้างโตเฉลี่ย ปีละ 10-15% พร้อมกับมองหาโอกาสโตจากการควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) รวมถึงศึกษารูปแบบธุรกิจใหม่ที่โตดี เช่น ไมโครไฟแนนซ์และคอนซูมเมอร์ไฟแนนซ์ รองรับการขยายธุรกิจในอนาคตด้วย