บาทแข็งสิ้นปีแตะ 30 บาท/ดอลลาร์

21 พ.ค. 2564 | 02:50 น.
960

เตือนผู้ส่งออกปิดความเสี่ยงครึ่งปีหลังคาดเงินบาทกลับทิศ “แข็งค่า” สิ้นปีแตะ 30.15 บาท/ดอลลาร์ คาดทุนต่างชาติไหลเข้าปีนี้ 1.5 แสนล้าน จากปีก่อนไหลออกเฉียด 3 แสนล้านบาท มองความเสี่ยงช่วงที่เหลือไม่มาก แนะจับตาโควิดกลายพันธุ์

ความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่ยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในระดับสูง และมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม อ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือน โดยลงลงไปทดสอบแนว 31.50 บาท ต่อดอลลาร์ จากที่ปิดวันก่อนที่ 31.44 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทยเปิดเผยว่า สัญญาณเงินทุนเคลื่อนย้ายในช่วงการระบาดของโควิด-19 ปี 2564 เทียบกับปี 2563 ในแง่ผลกระทบต่อตลาดการเงินไม่รุนแรงเท่าปีก่อน เนื่องจากรอบก่อนนั้นเป็นการระบาดครั้งแรกส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักว่า ความรุนแรงอย่างไร วัคซีนยังไม่มีช่วงนั้น ดังนั้นตลาดปิดความเสี่ยงที่รุนแรง เห็นได้จากช่วงเดียวกันปีก่อน (ม.ค.-12 พ.ค.) โดยรวมมียอดขายออกค่อนข้างหนักรวม 291,428 แสนล้านบาท โดยเป็นการขายออกสุทธิในตลาดหุ้น 175,830 ล้านบาท และตลาดตราสารหนี้ขายสุทธิ 115,597 ล้านบาท

ขณะที่การระบาดระลอก3 ในปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน มีเงินทุนต่างชาติไหลออกสุทธิเพียง 17,811.40 ล้านบาท โดยเป็นการไหลออกในตลาดหุ้นสุทธิ 48,136.55 ล้านบาท ขณะที่ตลาดตราสารหนี้มีการซื้อสุทธิ 65,947.95 ล้านบาท เนื่องจากรอบนี้ ไทยมีวิธีการรับมือ รู้วิธีการรักษา และมีวัคซีน ทำให้ตลาดไม่ได้กังวลมาก ซึ่งการขายในตลาดหุ้นจะเป็นลักษณะทยอยขาย แต่เริ่มมีการเทขายหนักเมื่อเกิดเหตุการณ์ช่วงสงกรานต์ ประกอบกับช่วงนั้นตลาดทั้งโลกอยู่ในช่วงปิดรับความเสี่ยงเช่นกัน ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจลงด้วย ดังนั้น หากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังอยู่ในหลัก 2,000 คนไปเรื่อยๆ หรือคนไม่กล้าฉีดวัคซีนแนวโน้มจะเห็นเงินทุนไหลออกได้แต่ปริมาณไม่มากเช่นปีก่อน

บาทแข็งสิ้นปีแตะ 30 บาท/ดอลลาร์

“จุดพลิกผันของเงินทุนเคลื่อนย้ายจะมากหรือน้อยขึ้นกับจำนวนรายของคนเข้ารับการฉีดวัคซีน เพราะในมุมตลาดหุ้นเชื่อว่า นักลงทุนคงจะรอดูการกระจายฉีดวัคซีนต่อวัน ซึ่งเป็นข้อดีที่รัฐบาลปรับกลยุทธ์ให้มีการ walk in รับการฉีดวัคซีน หากมีคนฉีดวัคซีนมากขึ้น อาจจะเห็นยอดผู้ติดเชื้อลดลงและอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อ เพราะฉะนั้นการเคลื่อนย้ายเงินทุน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป เชื่อว่าจะค่อยๆกลับทิศทาง เข้ามาซื้อหุ้นไทยมากขึ้น โดยสิ้นปี ยังมองเงินไหลเข้าตลาดหุ้นเป็นบวกไม่ตํ่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท” นายพูนกล่าว

อย่างไรก็ตามตลาดตราสารหนี้กลายเป็นตัวช่วยได้ดีในปีนี้ หลังจากปีก่อนตลาดขาดสภาพคล่องกะทันหัน จนเกิดการเทขายสินทรัพย์ลงทุนทุกประเภท รวมทั้งพันธบัตรจนถึงปีนี้ เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) สหรัฐ อายุ 10 ปี ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 1.5% ต่อปี ฝั่งไทยเองก็ปรับขึ้นอยู่ที่ราว 2.0% ต่อปี จึงเห็นนักลงทุนกลับเข้ามาซื้อพันธบัตรระยะยาวในไทยเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้เงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรยังคงเป็นบวก 65,947.95 ล้านบาท และมองไปข้างหน้าเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรคาดว่า ยังคงมีอยู่ แต่ไม่มากในอัตราเร่งตัว โดยสิ้นปีนี้ น่าจะประมาณ 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้จุดที่น่าสนใจในตลาดตราสารหนี้ไทย เริ่มเห็นนักลงทุนกลับเข้ามาซื้อพันธบัตรระยะสั้น เพื่อเก็งกำไรค่าเงิน โดยรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่า จะเห็นนักลงทุนกลับเข้ามาซื้อพันธบัตรระยะสั้นมากขึ้น ดังนั้นแนวโน้มถ้ายังเห็นนักลงทุนกลับเข้ามาซื้อหุ้นและพันธบัตร จึงมีโอกาสเห็นเงินบาท ค่อยๆทยอยแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง สิ้นปีเงินบาทน่าจะแข็งค่าที่
30.15 บาท/ดอลลาร์  จากเดิมที่เคยมองที่ 29 บาท/ดอลลาร์

“ส่วนตัวไม่คิดว่า เงินบาทจะอ่อนค่าถึง 32 บาทต่อดอลลาร์ คาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าที่ระดับ 31.50 บาท/ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ควรจะอ่อนค่าลงบ้างจากปัจจุบัน ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้นและเฟดไม่ปรับทิศนโยบายการเงินดอกเบี้ย ขณะที่ภาคการส่งออกแนวโน้มปีนี้ขยายตัวได้ 6-7% ส่วนขานำเข้าไม่น่าจะมาก หากโควิดยังลากยาว ดีมานด์ในประเทศยังไม่ฟื้นแต่เป็นการนำเข้าเพื่อผลิตและส่งออกทำให้ไทยยังเกินดุลการค้า สำหรับนักท่องเที่ยวปีนี้อาจจะเข้ามามาน้อยทำรายได้เพียง
1 ล้านคนและทำรายได้ราว 30,000 ล้านบาทประมาณไตรมาสที่4 ของปีนี้”

ส่วนนักลงทุน แม้ตลาดหุ้นจะย่อลง เพราะมีวัคซีนแล้ว ความเสี่ยงไม่น่าจะมาก แต่เป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามการกลายพันธุ์ของไวรัส หรือการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์บราซิลหรืออินเดีย ทั้งนี้ กรณีหุ้นปรับฐาน ก็เป็นโอกาสซื้อหุ้นที่ปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มพลังงาน การเงิน อุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนผู้ส่งออกควรจะปิดความเสี่ยง เนื่องจากทิศทางค่าเงินบาทจะไม่อ่อนไปกว่าปัจจุบัน และต้องระวัง เพราะถ้ามัวแต่เก็งกำไรค่าเงินและปิดความเสี่ยงไม่ทัน จะทำให้กำไรบาง เมื่อเงินบาทแข็งค่า หรืออาจใช้เครื่องมือการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ(option) 

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ยอดคงค้างถือครองพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ เพิ่มขึ้น 31,046 ล้านบาท จาก 8.57 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 มาอยู่ที่ 8.88 แสนล้านบาท ณ วันที่ 17 พฤษภาคม ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยสะสม 52,656 ล้านบาทนับตั้งแต่ต้นปี 2564

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,680 วันที่ 20 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564