โควิดทุบกำไรแบงก์ไตรมาส 1-ย้ำฐานะมั่นคง

17 พ.ค. 2564 | 17:44 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2564 | 13:36 น.

ธปท.เผยไตรมาส1กำไรสุทธิแบงก์ลด ย้ำฐานะมั่นคงมั่นคง กันสำรองปีก่อน 2.3แสนล้านบาท ส่วนไตรมาส1ปีนี้ตั้งอีก 4.2หมื่นล้านบาท หนุนROAปรับตัวดีขึ้น

ธปท.เผยไตรมาส1กำไรสุทธิแบงก์ลด ย้ำฐานะมั่นคงมั่นคง -กันสำรองปีก่อน 2.3แสนล้านบาท ส่วนไตรมาส1ปีนี้ตั้งอีก 4.2หมื่นล้านบาท หนุนROAปรับตัวดีขึ้น ระบุไตรมาส 2 รอประเมินผลกระทบของโควิดระลอกใหม่ต่ออัตราขยายตัวของจีดีพี

โควิดทุบกำไรแบงก์ไตรมาส 1-ย้ำฐานะมั่นคง

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1 ปี 2564 โดยระบุว่า  ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง สามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่ได้

เห็นได้จาก เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือBIS ratio ในไตรมาส1อยู่ ที่ 20.0% เป็นอัตราที่ทรงตัว ไตรมาสนี้มี 2ธนาคารออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิซึ่งนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่1 เพิ่มเติม  สำหรับอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือNPL coverage ratioปรับเพิ่มเล็กน้อยเป็น 149.7% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 149.2%โดยธนาคารพาณิชย์ยังคงกันสำรองเพิ่มเติมเพื่อรองรับการเสื่อมค่าของคุณภาพสินเชื่อ และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ปรับเพิ่มเป็น 186.5% จากเดิม 179.6% ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากทรงตัวอยู่ที่ 92.2%โดยสินเชื่อและเงินฝากยังคงขยายตัว ปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นจากเงินฝากออมทรัพย์และผู้ฝากที่เป็นธุรกิจเป็นสำคัญ

โควิดทุบกำไรแบงก์ไตรมาส 1-ย้ำฐานะมั่นคง

ด้านตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ที่ผ่านมา ตัวเลขจีดีพีต่ำสุด -12.1%ช่วงไตรมาส2ของปีก่อน ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.หรือสภาพัฒน์) แถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส1ของปี 2564 ติดลบ 2.6% ซึ่งสะท้อนการติดลงที่ลดลง 3ไตรมาสต่อเนื่องที่ผ่านมา โดยแนวโน้มจีดีพีไตรมาสที่ 2 จะต้องรอดูผลกระทบของโควิดระลอกใหม่จะส่งผลต่อการขยายตัวของจีดีพีอย่างไร

ขณะที่ผลดำเนินงานไตรมาส1 ของปี 2564 ปรับลดลง 12%  ส่วนใหญ่มาจากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่ลดลง โดยหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้ากำไรสุทธิปรับเพ่ิม ขึ้น ค่าใช้จ่ายกันสำรองและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ลดลง  โดยรายได้ดอกเบี้ยปรับลดลง 17.1%จากช่วงเดียวกันปีก่อน  และเมื่อหักรายการพิเศษจากการขายบริษัทลูกของธนาคารบางแห่งในไตรมาส1ปีก่อนกำไรจากการดำเนินงานจะติดลบ 12.4% แต่หากไม่รวมรายการพิเศษจะติดลบ 26% ด้านค่าใช้จ่ายในการกันสำรองในปี 2563มีจำนวน 2.3แสนล้านบาท ส่วนไตรมาส1ปีนี้กันสำรอง 4.2หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนการกันสำรองลดลงราว 14%

โควิดทุบกำไรแบงก์ไตรมาส 1-ย้ำฐานะมั่นคง

“โดยรวมระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2564 อยู่ที่ 4.4หมื่นล้านบาทลดลง 37.4% เมื่อหักรายการพิเศษจะกำไรสุทธิติดลบ 12% โดยเป็นการปรับลดลงของรายได้ดอกเบี้ย  แต่หากเทียบไตรมาส4 กำไรสุทธิดีขึ้น เนื่องจากทั้งค่าใช้จ่ายกันสำรองและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ลดลง อีกทั้งธนาคารก็มีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น มาจากการบริหารกองทุน การเป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์ เหล่านี้ส่งผลให้ อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย ( NIM) ลดลงมาอยู่ที่ 2.43% จากไตรมาสก่อนที่2.52% และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย ( ROA)ปรับดีขึ้นมาอยู่ที่ 0.80% จากไตรมาสก่อนที่ 0.32%

โควิดทุบกำไรแบงก์ไตรมาส 1-ย้ำฐานะมั่นคง

โควิดทุบกำไรแบงก์ไตรมาส 1-ย้ำฐานะมั่นคง

ส่วนสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์แม้จะยังขยายตัวแต่ไตรมาส1อัตราขยายตัวที่ลดลงอยู่ที่  3.8%  เช่นเดียวกับการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ขยายตัวลดลงอยู่ที่ 1.2% โดยการขยายตัวของสินเชื่อที่ระดับ 3.8%นั้น เป็นผลจากฐานสูงในปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากธุรกิจขนาดใหญ่หันมาใช้สินเชื่อเพิ่มแทนการออกตราสารหนี้

หากพิจารณาจากยอดสินเชื่อคงค้างของธุรกิจมีสัดส่วน 64%ของสินเชื่อรวม พบว่า สินเชื่อธุรกิจขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน จากผลของฐานสูง โดยสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ที่มีวงเงินเกิน 500ล้านบาท  ขยายตัวลดลง ส่วนกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อน้อยกว่า 500ล้านบาทนั้นยังได้รับสินเชื่อเพิ่มในไตรมาสนี้ ส่งผลให้อัตราการหดตัวลดลง โดยติดลบที่ 1% ซึ่งธปท.คาดว่า ตัวเลขนี้จะดีขึ้นจากสินเชื่อฟื้นฟู

ด้านสินเชื่ออุปโภคที่มีสัดส่วนราว 35.7%ยังมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้น 5.3% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 4.4% เพราะสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังขยายตัว6.8%เพิ่มตามอุปสงค์ของที่อยู่อาศัยแนวราบ,โปรลดราคาและของแถมจากผู้ประกอบการ รวมถึงผลบวกจากมาตรการลดหย่อนจากภาครัฐ  สินเชื่อรถขยายตัว 1.2%สินเชื่อบัตรเครดิต 6.6%และสินเชื่อส่วนบุคคลยังขยายตัว 5.9%ตามความต้องการสภาพคล่องของภาคครัวเรือนและการให้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันผ่านออนไลน์/แพลตฟอร์มต่างๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ธปท.เผยอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูแล้วกว่า 8,000ล้าน

 

คุณภาพสินเชื่อภายใต้มาตรการช่วยเหลือ และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ช่วยชะลอการเสื่อมของคุณภาพสินเชื่อลง   อัตราส่วนเอ็นพีแอลปรับเพิ่มเล็กน้อย โดย stage 3 อยู่ที่ 3.1% เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 3.12 สินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตหรือสินเชื่อที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ(Stage2) ปรับลดลงเล็กน้อยเป็น 6.41%จาก 6.62% เมื่อแยกเป็นประเภทสินเชื่อ พบว่า  อัตราของเอ็นพีแอลสินเชื่อธุรกิจปรับลดลงเป็น 3.17% จาก 3.23%

โควิดทุบกำไรแบงก์ไตรมาส 1-ย้ำฐานะมั่นคง

สำหรับคุณภาพสินเชื่ออุปโภคอยู่ที่เอ็นพีแอลอยู่ที่  2.92% โดยมีความเปราะบางทุกพอร์ตสินเชื่อทั้ง สินเชื่อส่วนบุคคล  บัตรเครดิตและสินเชื่อรถยนต์ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย   ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัยเอ็นพีแอลลดลงอยู่ที่ 3.74%   อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนของเอ็นพีแอลกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ทรงตัวอยู่ที่ 2.55% ส่วนกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีอัตราส่วนเอ็นพีแอลปรับเพิ่มเป็น 7.11%    

ทั้งนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความเข้มแข็งโดยมีเงินกองทุน  เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง  สามารถรองรับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้  ขณะที่สินเชื่อยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนคุณภาพสินเชื่อโดยรวมทรงตัวส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการช่วยลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์  ซึ่งจากผลกระทบของการระบาดของโควิดระลอกใหม่ คาดว่าลูกหนี้ยังคงต้องการความช่วยเหลือต่อเนื่อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ธปท.เผยอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูแล้วกว่า 8,000ล้าน 

เคาะแล้ว มาตรการช่วยลูกหนี้ระยะที่ 3 เยียวยาโควิด สินเชื่อรายย่อย 4ประเภท

เช็ก 4 ขั้นตอนก่อน Walk in ไปฉีดวัคซีนโควิด -19