วีซ่าเผย คนไทยเกือบครึ่งเลี่ยงการใช้เงินสด

08 พ.ค. 2564 | 07:35 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2564 | 14:50 น.

วีซ่า เผยผลศึกษา ทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภค พบ คนไทยเกือบครึ่งหนึ่ง มีแนวโน้มหลีกเลี่ยงการใช้เงินสด แม้โควิด-19 จะสิ้นสุดลง

นายสุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทยเปิดเผยว่า วิกฤตการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อความเป็นอยู่ รวมถึงด้านการงาน และการจับจ่ายของผู้คนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งวีซ่าได้จับตามองว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตจะส่งผลอย่างไรต่อการดำรงชีวิตในอนาคต 

สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวไทยช้อปปิ้งผ่านช่องทางใหม่ๆ ซึ่งช่องทางที่ผู้ตอบแบบสำรวจใช้เป็นครั้งแรกมากที่สุดหลังการเกิดโควิด คือ การช้อปผ่านแอปและเว็บไซต์ (65%) การใช้บริการส่งตรงถึงบ้านหลังการสั่งซื้อทางโทรศัพท์กับร้านค้าในพื้นที่  (47%) และการช้อปผ่านโซเชียลมีเดีย  (44%)

 

สิ่งที่น่าสนใจ คือ กลุ่มผู้บริโภคชาวไทยได้ถูกปรับพฤติกรรมให้ต้องมีการคิดทบทวนเพื่อจัดลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายไปโดยปริยาย โดยผลการศึกษา ชี้ให้เห็นว่า หมวดการใช้จ่ายที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดคือ การเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ (63%) การไปชมภาพยนตร์หรือร่วมงานกิจกรรมต่าง ๆ (60%) การซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น กระเป๋า นาฬิกา และเครื่องประดับ (60%) การรับประทานอาหารในร้านอาหารแบบ Fine-dining(58%) การใช้บริการเสริมสุขภาพและความงาม (57%) และการซื้อเสื้อผ้าใหม่ (54%)

 

“พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยที่น่าจะกลายเป็นนิวนอร์มัลหลังการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ครั้งนี้ คือ การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าในชีวิตประจำวัน  (62%) และการหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนชุมนุมกันหนาแน่น (43%)”นายสุริพงษ์กล่าว

 

ผลการศึกษาของวีซ่า ยังเจาะลึกในเรื่องของกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้บริโภคชาวไทยตั้งตารอเมื่อสถานการณ์ในปัจจุบันคลี่คลายลง โดย 3  กิจกรรมที่ผู้คนสนใจมากที่สุด คือ การท่องเที่ยวภายในประเทศ (35%) การท่องเที่ยวไปยังจุดหมายปลายทางต่างประเทศที่ปลอดภัยจากโควิด-19 (29%) และการจัดทริปสั้น ๆ ภายในเมืองที่อาศัยอยู่ (19%)

 

นอกจากนี้ ผลวิจัยยังพบว่า ผู้บริโภคชาวไทยเตรียมที่จะกลับไปซื้อสินค้าจำพวกแก็ดเจ็ตต่าง ๆ (16%) ของชำและของใช้ส่วนตัว(15%) และการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านและกิจกรรมเพื่อความบันเทิงนอกที่พักอาศัย (10 %) โดยน้อยกว่า 1 ใน 10 วางแผนที่จะเปลี่ยนเครื่องใช้ในบ้านใหม่ (9%) และซื้อสินค้าแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย (8%)

 

 

“เราเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคนี้ จะกลายเป็นพฤติกรรมถาวรมากกว่าการเปลี่ยนแปลงเพียงชั่วคราว ซึ่งรวมถึงการเลือกใช้วิธีการชำระเงินแบบไร้สัมผัส อย่างเช่น การแตะเพื่อจ่ายผ่านบัตรหรือสมาร์ทโฟน  ซึ่งปลอดภัยทั้งผู้ซื้อและผู้ขายอีกด้วย”นายสุริพงษ์กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: