ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองปี2568กลุ่มผู้สูงอายุมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าGen ME

18 ก.พ. 2564 | 16:51 น.

ความแตกต่างของช่วงวัยที่ชัดเจน ทำให้ธุรกิจต้องตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะเฉฑาะจง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า  การเปลี่ยนแปลงของกลุ่มผู้บริโภคจากความแตกต่างของช่วงวัย (Generation Gap) ที่ซับซ้อนขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ (Elderly) กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Gen ME) ซึ่งการเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีศักยภาพจำเป็นต้องสร้างความแตกต่างด้านสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์เฉพาะเจาะจงในระดับกลุ่มย่อยหรือระดับบุคคล (Personalization)

 

นอกจากนี้ หากสินค้าหรือบริการต้องตอบโจทย์ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการพร้อมกันหลากหลายเจเนอเรชั่น ก็จะยิ่งเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการที่จะต้องปรับรูปแบบของสินค้าและบริการให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุด เช่น ธุรกิจที่อยู่อาศัยหรือธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งมักจะพบลูกค้าเข้ามาใช้บริการพร้อมกันเป็นครอบครัว ดังนั้น ผู้ประกอบการควรมีรูปแบบหรือแพ็คเกจที่หลากหลายเพื่อรองรับลูกค้าได้ทุกกลุ่ม

 

ทั้งนี้  คาดว่าการใช้จ่ายของกลุ่มผู้สูงอายุน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.6% ต่อปี (CAGR 2560-2568) หรือราว 350,000 บาทต่อคนต่อปีในปี 2568 ซึ่งสูงกว่าการใช้จ่ายของกลุ่มคน Gen ME ที่คาดว่าค่าใช้จ่ายจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.2% ต่อปี (CAGR 2560-2568) หรือราว 323,000 บาทต่อคนต่อปีในปี 2568 โดยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น

 

ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ Gen ME ด้วยข้อจำกัดทางด้านเวลาและต้องการสร้างสมดุลให้กับชีวิต คนกลุ่มนี้จึงค่อนข้างให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีหรือเครื่องมือต่างๆ ที่สามารถช่วยร่นระยะเวลา และตอบสนองต่อความต้องการได้สะดวกและรวดเร็ว ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ (Elderly) แม้ว่าจะเริ่มให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากขึ้น แต่ก็จะเน้นไปที่การใช้งานที่ค่อนข้างเรียบง่าย ไม่ยุ่งยากหรือซับซ้อนเป็นหลัก ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นและควรทำความเข้าใจอย่างละเอียด หากต้องการที่จะเข้าถึงหรือสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง (Personalization) ได้อย่างแม่นยำขึ้น

 

หากพิจารณาถึงแนวโน้มความต้องการสินค้าและบริการที่สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผู้บริโภคทั้ง 2 กลุ่ม น่าจะมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับคุณค่าของสินค้าและบริการที่จะตอบโจทย์ในเรื่องสุขภาพ (Health) และสิ่งแวดล้อม (Environment) มากขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือไปจากความคุ้มค่าคุ้มราคา แต่ลักษณะหรือรูปแบบการเลือกซื้อสินค้าและใช้บริการอาจจะแตกต่างกันตามปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น กำลังซื้อ ไลฟ์สไตล์ การเข้าถึงเทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสรุปแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เน้นให้เห็นถึงภาพรวมของแต่ละกลุ่ม (ซึ่งแต่ละคนในแต่ละกลุ่มก็อาจจะพฤติกรรมเฉพาะที่แตกต่างกันออกไปอีก)

 

อ่านฉบับเต็ม:

ความแตกต่างของช่วงวัย (Generation Gap) ที่ชัดเจน ...https://medias.thansettakij.com/media/pdf/2021/1613642983.pdf