ทำอย่างไรหากหุ้น OR ไม่เข้าพอร์ต

11 ก.พ. 2564 | 16:24 น.
22.9 k

นักลงทุนโวยจองซื้อหุ้น OR แต่หุ้นไม่เข้าบัญชีบล.ไทยพาณิชย์ พ้อทำเสียประโยชน์ ติดต่อสอบถามไม่ได้ ด้านเพจ SCB Securities ออกมาแจงข้อสงสัย พร้อมแนะวิธีแก้ปัญหา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักลงทุนรายย่อยได้แจ้งปัญหาจองซื้อหุ้นของบริษัทปตท.น้ำมันและการค้าปลีกจำกัด (มหาชน) (OR) แต่หุ้นไม่ได้เข้าบัญชีหุ้นที่เปิดซื้อขายกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัดผ่านทางหน้าเฟซบุ๊คเพจ SCB Securities โดยระบุว่าไม่ได้รับหุ้นตามที่จองซื้อ ทำให้เสียประโยชน์ในการซื้อขายวันแรกที่ราคาปรับขึ้นไปค่อนข้างสูง รวมถึงติดต่อสอบถามผ่านช่องทาง Call center และข้อความไม่มีการตอบรับใดๆ จากทางผู้ให้บริการ 

 

ทั้งนี้ ล่าสุดหน้าเฟซบุ๊คเพจ SCB Securities โพสต์ข้อความว่า ทำอย่างไรหากหุ้น OR ไม่เข้าพอร์ต

กรณีที่ 1 ลูกค้าจองหุ้นโดยกรอกรหัสบริษัทหลักทรัพย์เป็น 023 แต่กรอกเลขบัญชีหุ้นผิด SCBS จะตรวจสอบและนำหุ้นเข้าบัญชีหุ้นให้

กรณีที่ 2 ลูกค้าจองหุ้นโดยกรอกชื่อผู้จองกับชื่อเจ้าของพอร์ตแตกต่างกัน จะยึดชื่อผู้จองเป็นหลัก

- หากผู้จองมีบัญชีหุ้นกับ SCBS SCBS จะตรวจสอบและนำหุ้นเข้าบัญชีหุ้นของผู้จองให้

- หากผู้จองไม่มีบัญชีหุ้นกับ SCBS กรุณาดูกรณีที่ 3

กรณีที่ 3 หากลูกค้าจองหุ้น โดยไม่ได้กรอกรหัสบริษัทหลักทรัพย์เป็น 023 หรือลูกค้าไม่มีบัญชีหุ้นกับSCBS หุ้นของลูกค้าจะเข้าไปอยู่ในบัญชี 600 ในชื่อผู้จอง กรุณาดาวน์โหลดแบบฟอร์มและดำเนินการตามข้อ 10 ของ https://bit.ly/3d2O7Gy

สอบถามเพิ่มเติมที่ inbox เพจ SCB Securities หรืออีเมล [email protected]

สำหรับการจองซื้อหุ้น OR การรับหุ้นแบ่งเป็น 3 กรณีตามที่ได้เลือกในวันที่จองหุ้น คือ 

กรณีแรก เลือกเข้าบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ (Broker) จะได้รับ “หุ้น” เข้าบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ ภายใน 1 วันทำการก่อนวันเริ่มซื้อขาย

กรณีที่สอง เลือกเข้าบัญชี 600 (Issuer Account) : ฝากหุ้นไว้กับ TSD จะได้รับ “เอกสารการฝากหุ้นเข้าบัญชี” ที่จะส่งออกไปรษณีย์ ภายใน 3 วันทำการจากวันเริ่มซื้อขาย       

กรณีที่สาม เลือกเป็นใบหุ้น จะได้รับ “ใบหุ้น” ที่จะส่งออกไปรษณีย์ ภายใน 15 วันทำการจากวันจองซื้อวันสุดท้าย (ส่งออกภายในวันที่ 1 มีนาคม 2564)         

 

ส่วนกรณีที่ต้องการขายหุ้นจอง OR ในตลาดหลักทรัพย์  มีข้อควรพิจารณาข้อจำกัดของถือหุ้นและขายหุ้นดังนี้ ต้องเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ หากต้องการซื้อขายหุ้นได้อย่างคล่องตัว โดยจะต้องผ่านกระบวนการ Know Your Customer (KYC) & Customer Due Diligence (CDD) เพื่อทราบความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ ซึ่งผู้ลงทุนบางส่วนอาจจะไม่ผ่านการทดสอบนี้ ทั้งนี้ เมื่อมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์แล้วจะซื้อขายได้ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำการซื้อขาย หากไม่มีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ - แม้สามารถถือหุ้นเป็นใบหุ้น (Share Certificate) แต่ถ้าสุดท้ายขายเป็นใบหุ้น จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาบนกำไรจากการขายหุ้นนี้  - กรณีฝากหุ้นเข้าบัญชีของบริษัทผู้ออกทรัพย์สมาชิกเลขที่ 600 (Issuer Account) จะต้องเสียค่าธรรมเนียมการถอนหุ้นด้วย