คู่สมรสจัดการทรัพย์สินได้ตามต้องการ

02 ก.พ. 2564 | 12:38 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.พ. 2564 | 12:39 น.
784

ผุสดี พรเกษมศาสตร์ นักวางแผนการเงิน CFP®  สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

 

เมื่อความรักผลิบานกลางใจของคนสองคน จะมองไปทางไหนโลกทั้งใบก็กลายเป็นสีชมพู ไม่ว่าจะพูดหรือทำอะไรก็เข้าอกเข้าใจทุกอย่าง แต่ก่อนจะถึงวันที่คนทั้งคู่เปลี่ยนจากสถานะคนรู้ใจกลายเป็นคู่สมรสตามกฎหมาย  สิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจนอกเหนือจากความรักที่หวานชื่นคงหนีไม่พ้น “สัญญาก่อนสมรส

       

เพราะความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาทางทรัพย์สินมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าความสัมพันธ์ทางอื่น กฎหมายจึงเปิดโอกาสให้คู่สมรสสามารถตกลงรูปแบบ วิธีการ เงื่อนไข และข้อจำกัดเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรสที่แตกต่างไปจากที่กฎหมายกำหนดได้ตามที่คู่สมรสเห็นสมควร เพื่อให้คู่สมรสสามารถกำหนดสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ การจัดการทรัพย์สิน และข้อตกลงอื่นๆ เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินหากการสมรสสิ้นสุดลง รวมถึงการกำหนดใช้เงินระหว่างคู่สมรสด้วย โดยระหว่างการเจรจาเงื่อนไขและข้อกำหนดในสัญญาก่อนสมรส แต่ละฝ่ายควรปรึกษาทนายความของตนก่อน เพื่อขอคำแนะนำและให้สัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย หากไม่มีการทำสัญญาตกลงกันเรื่องจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสแล้ว เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง แต่ละฝ่ายจะมีสิทธิจัดการทรัพย์สินเฉพาะสินส่วนตัวเท่านั้น ส่วนสินสมรสต้องจัดการร่วมกันและแบ่งให้แต่ละฝ่ายเท่าๆ กัน

       

สัญญาก่อนสมรส คือ สัญญาที่มีผลผูกพันเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือหนี้สินระหว่างคู่สัญญา 2 ฝ่าย ทั้งคู่สัญญาฝ่ายชายและคู่สัญญาฝ่ายหญิง ต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นก่อนหรือทำสัญญาพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสกับนายทะเบียน ซึ่งลงลายมือคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายและต้องมีพยานลงนามในสัญญาอย่างน้อย 2 คน โดยสัญญาก่อนสมรสจะถือเป็นสัญญาสลักหลังทะเบียนสมรสของคู่สมรส หากทำสัญญาก่อนสมรสนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้ข้างต้น สัญญานั้นย่อมตกเป็นโมฆะ และถ้าข้อความใดในสัญญาก่อนสมรสขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือให้ใช้กฎหมายประเทศอื่นบังคับเรื่องทรัพย์สินนั้น ข้อความนั้นเป็นโมฆะเช่นกัน

 

ส่วนการแก้ไขหรือเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสหลังจากได้จดทะเบียนสมรสจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น หากทำสัญญาดังกล่าวภายหลังการจดทะเบียนสมรส ตามกฎหมายจะถือว่าเป็นสัญญาระหว่างสมรส ซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถบอกล้างสัญญาเมื่อใดก็ได้ถ้ายังเป็นสามีภรรยากันอยู่หรือบอกล้างภายใน 1 ปี นับแต่วันสิ้นสุดการเป็นสามีภรรยากัน    

 

แม้ว่าหัวใจจะเริ่มต้นด้วยความหวานก็อาจจะแห้งหายไปกับกาลเวลา เพราะในวันที่ชีวิตคู่ไม่ได้ราบรื่นดั่งวันวาน สัญญาก่อนสมรสจะเป็นเส้นทางในอนาคตที่สร้างความสบายใจให้กับทั้งสองฝ่าย อย่ากลัวว่าจะเป็นอาถรรพ์ ถูกคนนินทาว่าไม่รักกันจริง หรือแต่งงานเพื่อหวังตกถังข้าวสาร เพราะพันธะทางกฎหมายนี้จะช่วยให้คู่สมรสจัดการทรัพย์สินได้ตามต้องการ และลดปัญหาความขัดแย้งในชีวิตคู่ได้

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่ LINE@cfpthailand  , TFPA Facebook Fanpage และ  www.tfpa.or.th