TDRI ระบุ “ส่งออก-ใช้จ่ายภาครัฐ”หนุนจีดีพีปี 64 โต 2-3%

28 ม.ค. 2564 | 06:55 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ม.ค. 2564 | 04:55 น.

TDRI ระบุ 2ปัจจัย “ส่งออก-ใช้จ่ายภาครัฐ”หนุนจีดีพีไทยปี64โต 2-3%จากปีที่ผ่านมาคาดว่าจะติดลบ 7-8%

        สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ระบุ 2ปัจจัย “ส่งออก-ใช้จ่ายภาครัฐ” หนุน จีดีพีไทย ปี64โต 2-3%พร้อมประเมินเศรษฐกิจจะกลับสู่ระดับก่อนโควิดในปี2566 

กิริฏา เภาพิจิตร

 

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการ TDRI Economic Intelligence Service (EIS) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงาน “2021 FACING CHANGE OR MORE CHALLENGES” ซึ่งจัดโดย Kbank PRIVATE BANKING ธนาคารกสิกรไทย ภายใต้หัวข้อ “เจาะลึกทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย” โดยระบุว่า ปี 2564เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะฟื้นตัวดีขึ้น

 

ทั้งนี้คาดว่า อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทย(จีดีพี)มีโอกาสจะขยายตัวที่ประมาณ  2-3% จากปี 2563ที่คาดว่าจะมีอัตราติดลบ 7-8% สาเหตุหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมา ซึ่งมีผลต่อรายได้และการบริโภคภายในประเทศ  แต่แนวโน้มในระยะ 2-3ปีข้างหน้าหรือประมาณปี 2566คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด

สำหรับประมาณการจีดีพีที่ 2-3%นั้น มาจากภาคการส่งออก ซึ่งจะเป็นความคาดหวังโดยเฉพาะการเติบโตในตลาดหลัก คือ  สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น โดยจะมีผลต่อความต้องการซื้อสินค้าและบริการจากไทย  โดยคาดว่าการส่งออกจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 5-6% จากปีก่อนที่ติดลบ 6%  และภาคท่องเที่ยวคาดว่าจะเห็นว่าการท่องเที่ยวภายในประเทศเริ่มกลับมา  แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในต่างประเทศยังคงเป็นศูนย์  แต่คาดว่าปลายปีนี้น่าจะเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาได้

 

ขณะที่การลงทุนภาครัฐ ยังเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เห็นได้จากรัฐบาลใช้เงินงบประมาณไปเพียง 30% จากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จึงมีเงินงบประมาณรอเบิกจ่ายอีกจำนวนมาก สำหรับการเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ  เช่นที่ผ่านมาโครงการ “ไทยชนะ” และ “คนละครึ่ง” ดังนั้นเชื่อว่าภาครัฐยังมีศักยภาพในการใช้จ่ายได้อีก

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังคงต้องใช้เวลา เนื่องจากความต้องการสินค้าและบริการลดลง ทำให้ความต้องการขยายการลงทุนลดลง ประกอบกับกำลังผลิตส่วนเกินที่ยังคงเหลือจำนวนมาก   แต่หากดูตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่า บีโอไอมีการอนุมัติโครงการลงทุนจำนวนมากเมื่อเทียบกับปี 2562 สะท้อนภาพการลงทุนที่จะเกิดขึ้นอีกใน 1-2 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีการย้ายฐานผลิตและการลงทุนออกมาในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนยานยนต์ หรือ ยานยนต์   ซึ่งจีนได้รับบีโอไอในเวียดนามเป็นอันดับ 1  รองลงมาเป็นเมืองไทย  

 

“ปีนี้เรายังมองเศรษฐกิจไทยยังคงเหนื่อย   โดยเฉพาะผู้ประกอบการหรือภาคธุรกิจเอสเอ็มอีที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว  ร้านอาหาร ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งเซ็กเตอร์เหล่านี้มีโอกาสจะถูกกระทบต่อการจ้างงาน ซึ่งตัวเลขในเดือนตุลาคม 2563 ชั่วโมงการทำงานลดลง และคาดว่าจะลดลงอีกจากผลกระทบการระบาดของโควิดรอบสอง  เหล่านี้จะส่งผลต่อกำลังซื้อ แต่ที่ขยายตัวได้ เช่น ภาคการส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐ เกษตร และอี-คอมเมิร์ซ”