อันดับเศรษฐีโลกในรอบ 25 ปี 

11 ม.ค. 2564 | 10:18 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2564 | 10:43 น.
3.7 k

โดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor )ชั้นแนวหน้า

 

ข่าว  “น่าตื่นเต้น”  ในแวดวงการเงินการลงทุนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็คือการที่ อีลอน มัสก์ เจ้าของและผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเทสลากลายเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกแทนที่เจฟฟ์ เบซอส เจ้าของและผู้ก่อตั้งบริษัทอีคอมเมิร์ซอะมาซอน อานิสงค์จากการที่หุ้นเทสลาปรับตัวขึ้นไปอย่างแรงและรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี 2563 ซึ่งหุ้นขึ้นไปถึงกว่า 5 เท่าในเวลาเพียงปีเดียว ทำให้อีลอน มัสก์  ซึ่งในช่วงต้นปี 2563 ที่เคยมีความมั่งคั่งเพียงประมาณ 2.7 หมื่นล้านเหรียญและยังไม่ติด 50 อันดับเศรษฐีโลกด้วยซ้ำ ร่ำรวยขึ้นมาเป็น 1.88 แสนล้านดอลลาร์หรือประมาณ 5.6 ล้านล้านบาทในวันที่ 7 มกราคม 2564

 

และนี่น่าจะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของเศรษฐีหมายเลย 1 และหมายเลขต้น ๆ  ของโลก แต่ถ้าจะพูดไป  การเปลี่ยนแปลงของอันดับเศรษฐีโลกนั้นดูเหมือนว่าจะมีการเร่งตัวขึ้นเรื่อย ๆ  ตามวิวัฒนาการของเทคโนโลยีของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ  ที่ทำให้กิจการไฮเท็คมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและทำให้เจ้าของบริษัทร่ำรวยตามกันไป  เรามาดูกันว่าในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา ใครคือคนที่มั่งคั่งที่สุดในแต่ละปีและเพราะอะไร

 

 

อันดับเศรษฐีโลกในรอบ 25 ปี 

 

เริ่มจากต้นปี 1996 หรือปี 2539 ในช่วงนั้นเป็นยุคต้นของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่จำเป็นต้องมีโปรแกรมเพื่อให้มันทำงานได้และโปรแกรมวินโดว์ของไมโครซอฟท์กำลังเป็นผู้ชนะอย่างชัดเจน  ดังนั้น  บิลเกตเจ้าของและผู้ก่อตั้งบริษัทจึงกลายเป็นคนที่รวยที่สุดในโลก  มีความมั่งคั่งประมาณ 2 หมื่นล้านเหรียญ  ตามมาด้วยวอเร็น บัฟเฟตต์ ราชันนักลงทุนแห่งโอมาฮา ที่มีเงินลงทุนในธุรกิจผู้บริโภคและประกันที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในสังคมอเมริกัน  และที่น่าสังเกตก็คือ  อันดับ 3 5 6 และ 7  ก็คือนักธุรกิจจีน “โพ้นทะเล” โดยเฉพาะฮ่องกงและสิงคโปร์เช่น ลีกาชิงและก็วกบราเธอร์  ที่น่าจะร่ำรวยขึ้นมากอานิสงค์จากการที่จีนเปิดประเทศและคนเหล่านี้เป็นนักธุรกิจที่ได้ประโยชน์เต็มที่

            

ปี 1997 อันดับ 1 มีการเปลี่ยนแปลงเป็นของสุลต่านโบลเกียจากบรูไนที่มีความมั่งคั่งแซงบิลเกตที่ตกลงไปเป็นอันดับ 2  มีทรัพย์สินประมาณ 3.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ  อานิสงค์จากการเป็นเจ้าของ “บ่อน้ำมัน” ของบรูไนน่าจะทั้งหมดเนื่องจากเป็นกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  และน้ำมันน่าจะมีราคาที่ดี  อันดับ 2 และ 3 ยังเป็นของ บิลเกตและบัฟเฟตต์ อันดับ 4 เป็นของกษัตริย์ อัลซาดจากซาอุดิอาราเบีย เจ้าของบ่อน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก  และอันดับ 5 คือประธานาธิบดีซูฮาร์โต เผด็จการทหารที่ครองอินโดนีเซียในในช่วงเวลานั้นที่มีทรัพย์สินประมาณ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์

            

ปี 1998 อันดับ 1 กลับมาเป็นของบิลเกตโดยความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเป็น 4.9 หมื่นล้านดอลลาร์  แต่อันดับ 2 เป็นของตระกูลวอลตันเจ้าของวอลมาร์ทที่น่าจะเริ่มเอาชนะในธุรกิจเมกาสโตร์ของอเมริกาอย่างเด็ดขาด อันดับ 3 และ 5 ยังเป็นของสุลต่านบรูไนและกษัตริย์ซาอุดิอาราเบีย และอันดับ 4 คือบัฟเฟตต์

            

ปี 1999 บิลเกต อันดับ 1 ด้วยมูลค่า “มโหฬาร” ที่ 8.8 หมื่นล้านดอลลาร์ อันดับสอง บัฟเฟตต์และอันดับ 3 และ4 คือพอลอันเลนกับสตีฟ บัลเมอร์ หุ้นส่วนของบิลเกตที่ไมโครซอฟท์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าและยิ่งใหญ่ของไมโครซอฟท์ในช่วงนั้น

            

ปี 2000 บิลเกตยังอันดับ 1 ที่ 6.1 หมื่นล้านบาท ลดลงมากจากจุดสูงสุดที่เป็น “ฟองสบู่” ในปี 1999  อันดับ 2 คือ ลอเร้นซ์ เอลิสัน เจ้าของออลาเคิล  เจ้าพ่อทางด้านโปรแกรมใช้งานคอมพิวเตอร์ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  อันดับ 3 คือพอล อันเลน อันดับ 4 บัฟเฟตต์และอันดับ 5 เป็นของพี่น้องวอลตัน เจ้าของวอลมาร์ทที่ยังเติบโตอยู่เคียงคู่กับธุรกิจไฮเท็ค

 

ปี 2001 บิลเกต ยังครองตำแหน่งที่ 5.9 หมื่นล้านเหรียญ ตามด้วยบัฟเฟตต์ พอล อันเลน ลอเร้นซ์ เอลิสัน และมกุฎราชกุมารของซาอุดิอาราเบีย โดยที่อันดับต่อจากนั้นส่วนใหญ่เป็นของพี่น้องตระกูลวอลตันเจ้าของวอลมาร์ท

           

ปี 2002 บิลเกตและบัฟเฟตต์ ครองอันดับ 1 และ 2 ที่ 5.3 และ 3.5 หมื่นล้านเหรียญ ลดลงมากเนื่องจากวิกฤติไฮเท็คในปี 2000 ลอเร้นซ์ เอลิสันอันดับ 3 และที่เหลือคือกลุ่มตระกูลวอลตันเจ้าของวอลมาร์ท  ว่าที่จริงถ้ารวมพี่น้องทั้งหมด ตระกูลนี้จะมั่งคั่งที่สุดในโลกอยู่หลายปีมาก ๆ 

          

ปี 2003 บิลเกต บัฟเฟตต์ เอลิสันและที่เหลือคือพี่น้องตระกูลวอลตัน ความมั่งคั่งอันดับ 1 อยู่ที่ 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์

           

ปี 2004 บิลเกต 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามด้วย บัฟเฟตต์ พอล อันเลน เจ้าชายของซาอุดิอาราเบีย และที่เหลือคือพี่น้องวอลตัน ดูเหมือนว่าโลกจะยังอยู่ในยุคของไฮเท็ค น้ำมัน และค้าปลีก

           

ปี 2005  บิลเกตที่ 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์ บัฟเฟตต์  เจ้าชายซาอุ และลักษมี มิตตัล “เจ้าพ่อ”เหล็กและอื่น ๆ  ของอินเดีย และอันดับ 5 คือ อิงวาร์ คัมปราด เจ้าของร้านอิเกียที่กำลังขยายไปทั่วโลก

           

ปี 2006 บิลเกตยังรักษาอันดับ 1 ที่ 5 หมื่นล้านเหรียญ ตามด้วยบัฟเฟตต์  แต่อันดับ 3 ตกเป็นของ คาร์ลอส สลิม เจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่อาจจะถึง 40% ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นของเม็กซิโก   อันดับ 4 เป็นของมิตตัลและ 5 คือ พอล อันเลน หุ้นส่วนบิลเกต

           

ปี 2007 บิลเกต ที่ 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์ บัฟเฟตต คาร์ลอส สลิม อิงวาร์ คัมปราด ลักษมี มิตตัล

           

ปี 2008 เป็นปีแรกที่บัฟเฟตต์ติดอันดับ 1 ที่ 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์ วิกฤติซับไพร์มกำลังจะมา  ตามด้วยคาร์ลอส สลิม บิลเกต มิตตัล และมูเคช อัมบานี เจ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ รีไลแอนซ์ของอินเดียและเป็นคนอินเดียคนที่สองที่ติด 1 ใน 5 เศรษฐีโลก

            

ปี 2009 บิลเกตอันดับ 1 ที่ 4.1 หมื่นล้านลดลงเนื่องจากวิกฤติซับไพร์ม ตามด้วย บัฟเฟตต์ คาร์ลอส สลิม คัมปราด และลอเร้นซ์ เอลิสันที่น่าจะ “เจ็บ” น้อยกว่าหลายคนเพราะคนยังต้องใช้โปรแกรมของออราเคิล

            

ปี 2010 เรียงตามลำดับคือ  บิลเกต คาร์ลอส สลิม บัฟเฟตต์ อัมบานี มิตตัล  เริ่มจากความมั่งคั่งที่ 5.3 หมื่นล้านเหรียญ

           
 

ปี 2011 คาร์ลอส สลิม ขึ้นเป็นอันดับ 1 ที่ 7.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามด้วยบิลเกต บัฟเฟตต์ เบอร์นาร์ด อาร์โนลด์ เจ้าของสินค้าแบรนด์หลุยส์วิตตองแห่งฝรั่งเศษ และเอลิสัน  และนี่ก็เป็นอันดับใกล้เคียงกับปี 2012 และ 2013 รวมทั้งความมั่งคั่งของอันดับ 1 ที่ตกลงมาเล็กน้อยที่ 6.9 หมื่นล้านเหรียญและเพิ่มขึ้นเป็น 7.3 หมื่นล้านเหรียญตามลำดับ

            

ปี 2014 บิลเกตกลับมาเป็นอันดับ 1 ที่ 7.5 หมื่นล้านเหรียญ คาร์ลอส สลิม อันดับ 2 แต่อันดับ 3 ซึ่งติดอันดับ 4 ในปี 2013 คืออามันซิโอ ออร์เตก้า เจ้าของร้านเสื้อผ้าซาร่าจากประเทศสเปน อันดับ 5 คือเอลิสัน

            

ปี 2015 บิลเกตยังคงรักษาอันดับ 1 ที่ 7.9 หมื่นล้านดอลลาร์ อันดับต่อมาคือ คาร์ลอส สลิม บัฟเฟตต์ ออร์เตก้า และเอลิสัน  เจ้าเก่า

           

ปี 2016 บิลเกตที่ 7.5 หมื่นล้านเหรียญ ตามมาด้วยออร์เตก้า ที่ร้านซาร่าเริ่มขยายไปทั่วโลก บัฟเฟตต์ คาร์ลอส สลิม เอลิสัน แต่อันดับ 6 และ 7 คือ เจฟฟ์ เบซอสและมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก

            

ปี 2017 บิลเกตอันดับ 1 ที่ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามด้วย บัฟเฟตต์และออร์เตก้า  อันดับ 4 และ 5 ตกเป็นของเจฟฟ์เบซอสและมาร์กซักเกอร์เบิร์ก สัญญาณแห่งเศรษฐกิจใหม่หรือ New Economy ที่อิงกับสื่อสังคมและดิจิตอลกำลัง “พัดมาอย่างแรง”

          

ปี 2018 เจฟฟ์ เบซอส ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ที่ 1 แสนล้านเหรียญเป็นครั้งแรก ตามด้วย บิลเกต บัฟเฟตต์ ออร์เตก้า และมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก

            

ปี 2019 เบซอสยังครองอันดับ 1 ที่ 1.34 แสนล้านดอลลาร์ ตามด้วย บิลเกต บัฟเฟตต์ และการกลับมาของ เบอร์นาร์ด อาร์โนลด์ เจ้าพ่อร้านหรูหลุยส์วิตตอง และออร์เตก้า ที่ยังเกาะกระแสมาเรื่อย ๆ  

            

ปี 2020 เบซอสยังอยู่อันดับ 1 ที่ 1.22 แสนล้านเหรียญ ตามด้วยบิลเกตและเบอร์นาร์ดอาร์โนลด์ที่ต่างก็มีความมั่งคั่งเกินแสนล้านดอลลาร์เหมือนกัน ตามมาด้วย บัฟเฟตต์และออร์เตก้า

            
และล่าสุด ในเดือนแรกของปี 2021 ที่อีลอน มัสก์ขึ้นมาเป็น เบอร์ 1 ตามด้วยเบซอส บิลเกต  เบอร์นาร์ด อาร์โนลด์ และมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก โดยที่ทุกรายมีทรัพย์สินเกิน 1 แสนล้านดอลลาร์ 

 

 

Posted by nivate at 9:50 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor

 

อีกหนึ่งปีที่หายไป 

อภินิหารของหุ้นที่ถูก Corner 

Baby Boomer VS Gen Y