รื้อภาษีรถใหม่ แจ้งเกิด ‘EV’

10 ธ.ค. 2563 | 18:55 น.
17.0 k

กรมสรรพสามิต เตรียมรื้อโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ เร่งหารือผู้ผลิตให้ได้ข้อยุติใน 3 เดือน ก่อนบังคับใช้หลังปี 2568 พร้อมหนุนรถยนต์ไฟฟ้า ผุดกองทุนกำจัดแบตเตอรี่รองรับ

นับเป็นการรื้อใหญ่อีกครั้งสำหรับโครงสร้าง ภาษีรถยนต์ ที่พิจารณาจากการใช้เชื้อเพลิง และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 และจะสิ้นสุดในปี 2568 ซึ่งรวมถึง รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ด้วย

 

ล่าสุดนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้สั่งให้กรมสรรพสามิต ศึกษาโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทย รวมถึงทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้ามีราคาถูกลง เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์อีวีมากขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคตต่อไป


วันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตได้ประชุมคณะกรรมการดูแลการเกิดรถยนต์ไฟฟ้า(EV)ร่วมกับผู้ประกอบการรถยนต์ทุกค่าย เพื่อหารือถึงการปฏิรูปโครงสร้างภาษีรถยนต์ เพื่อรองรับรถยนต์ EV ตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้เกิดรถอีวีในไทยเพิ่มมากขึ้น โดยหลักๆเป็นการให้โจทย์กับค่ายรถยนต์กลับไปหารือกับบริษัทแม่ใน 3 ประเด็นหลักคือ 1.แนวทางการปล่อย CO2 ในอนาคต 2.การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าที่รัฐบาลต้องส่งเสริม 3.ทิศทางรถยนต์ต่างๆ และอื่นๆ หากค่ายรถยนต์ต้องการเสนอแนะ

 

ทั้งนี้ กรมสรรพสามิต จะให้เวลา 2-3 เดือน จากนั้นจึงจะมีการหารือรายละเอียดของแต่ละค่าย เพื่อมากำหนดเป็นโครงสร้างภาษีรถยนต์ เพื่อปรับปรุงมาบังคับใช้ต่อเนื่องจากโครงสร้างภาษีรถยนต์ปัจจุบันที่บังคับใช้ไปจนถึงปี 2568

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดี กรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ได้มีการหารือหลักถึงการนำเรื่องที่เคยหารือกันไว้ก่อนหน้านี้ มาพิจารณาอีกครั้งว่า ยังคงเหมาะสมอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องการจัดตั้งกองทุนแบตเตอรี่รถยนต์อีวี ที่จะเชื่อมโยงกับการกำจัดแบตเตอรี่ และการควบคุมแบตเตอรี่ให้ถูกวิธี จะต้องมีรูปแบบอย่างไร และการส่งเสริมที่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพสามิตมีอะไรบ้าง

รื้อภาษีรถใหม่ แจ้งเกิด ‘EV’

“ได้หารือร่วมกันเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น แทร็คแอนด์เทรซ (Track & Trace) ระบบตรวจสอบสถานะสิ่งของ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่สามารถบอกได้ว่าแบตเตอรี่ชิ้นนั้นต้นทางมาจากไหน เราก็เข้าไปเก็บเงินเขาคืน แล้วส่งโรงงานกำจัดให้ เพื่อให้รู้ว่าจะต้องไปเก็บเงินที่ใคร เป็นต้น” นายลวรณ กล่าว

 

สำหรับภาษีรถยนต์อีวีในปัจจุบัน กรมได้มีการลดอัตราภาษีให้เหลือ 0% ให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จากเดิมที่จัดเก็บอยู่ในอัตรา 2% โดยจะต้องยื่นความจำนงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และต้องดำเนินการผลิตรถยนต์ EV ภายใน 2 ปี และและจะได้รับอัตราภาษี 0% ไปอีก 3 ปี หลังจากปี 2568 จะเสียภาษีสรรพสามิต 8%

 

“เชื่อว่า แนวทางรถไฟฟ้าเป็นแนวที่ถูกต้องของโลกนี้ และประเทศไทย”

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กรมสรรพสามิตเตรียมแผนเสนอให้มีกองทุนเพื่อจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้แบตเตอร์รี่ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการกำจัดแบตเตอร์รี่อย่างถูกวิธี ควบคู่การใช้รถยนต์อีวีของไทย

นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าจะสิ้นสุดในปี 2568 แต่ทางกลุ่มยื่นให้รัฐบาลพิจารณาขยายระยะเวลาออกไปอีก2 ปี เป็นปี 2570 เนื่อง จากผลกระทบจากโควิด-19

รื้อภาษีรถใหม่ แจ้งเกิด ‘EV’

“หลายบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในโครงการรถยนต์ไฟฟ้า ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำเป็นต้องปรับแผนงานของตนเอง ดังนั้นทางกลุ่มจึงขอขยับเวลาภาษีสรรพสามิตใหม่ไปอีก 2 ปี”

 

ขณะที่นโยบายการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลควรมีแผนงานที่ชัดเจน และทุกหน่วยงานควรประสานการทำงานเพื่อขับเคลื่อนในในทิศทางเดียวกัน อย่างไร ส่วนมาตรการสนับสนุนด้านภาษีเป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยให้ผู้คนเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น และให้เกิดการผลิตจำนวนมากจนคุ้มค่าแก่การลงทุน

 

นายกฤษฏา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า การขยับ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้า หลังปี 2568 ถือเป็นเรื่องสมเหตุสมผล เพราะโควิด-19 กระทบต่อแผนลงทุนต่อผู้ประกอบการหลายราย ซึ่งภาษีสรรพสามิตถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่มีผลต่อราคาขาย แต่การใช้ภาษีสรรพสามิตอย่างเดียวไม่น่าจะเพียงพอ ดังนั้นสมาคม เห็นว่ารัฐบาลควรจะสนับสนุนด้านอื่นเพิ่มเติมเพื่อจูงใจให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เช่น การนำค่าใช้จ่ายในการซื้อรถไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้

รื้อภาษีรถใหม่ แจ้งเกิด ‘EV’

“นอกจากการสนันสนุนให้เกิดการใช้งานส่วนบุคคลแล้ว รัฐบาลควรเป็นตัวนำร่องให้เกิดการใช้งานผ่านรถในหน่วยงานราชการเอง” นายกฤษฏา กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ลดภาษีรถยนต์"เป็นหมัน ผู้ผลิตเตรียมยื่นข้อเสนอใหม่รัฐบาล

คลัง สั่ง สรรพสามิต ศึกษาเก็บภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้า

สรรพสามิต เยียวยาสายการบินต้นทุนต่ำ ขยายเวลาลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน

สรรพสามิต โชว์จัดเก็บรายได้ปีงบ 63 กว่า 5.4แสนลบ.ดีเกินคาด