ก.ล.ต.สั่งฟัน "อิง ภาสกรนที" พร้อมพวก อินไซด์ขายหุ้น ICHI

22 ต.ค. 2563 | 19:13 น.
3.9 k

ก.ล.ต.ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 3 ราย กรณีอาศัยข้อมูลภายในขายหุ้น ICHI

 

ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดรวม 3 ราย ได้แก่ (1) นายอภิชาติ สุขจิรวัฒน์ กรณีขายหุ้นบริษัทอิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ICHI) โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน (2) นางอิง ภาสกรนที กรณีเปิดเผยข้อมูลภายในเกี่ยวกับ ICHI แก่บุคคลอื่น และช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้อื่นในการขายหุ้น ICHI (3) นางสาวสุภาณี สุขพันธุ์ถาวร กรณีขายหุ้น ICHI โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน โดยให้ผู้กระทำความผิดทั้ง 3 รายชำระค่าปรับทางแพ่ง ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด รวมจำนวน 33,173,237.48 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามบุคคลทั้ง 3 รายเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร

 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2560 นายอภิชาติ สุขจิรวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานบัญชีและการเงินของ ICHI รู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานปี 2559 ของ ICHI ที่มีกำไรสุทธิลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินงานไตรมาสที่ 4 ปี 2559 มีผลขาดทุนสุทธิ และนายอภิชาติได้ขายหุ้น ICHI เมื่อวันที่ 10 – 20 มกราคม 2560 จำนวน 3,529,800 หุ้น ที่อยู่ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง ทำให้ได้ประโยชน์จากการหลีกเลี่ยงผลขาดทุน ก่อนมีการเปิดเผยผลการดำเนินงานในงบการเงินประจำปี 2559 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 

 

ส่วนนางอิง ภาสกรนที รองกรรมการผู้อำนวยการ รองประธานกรรมการบริหาร และกรรมการบริษัท ICHI รู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานปี 2559 ของ ICHI ที่มีกำไรสุทธิลดลง และนางอิงได้เปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าวแก่นางสาวสุภาณี สุขพันธุ์ถาวร (พี่สาวของนางอิง) และช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่นางสาวสุภาณี ได้ขายหุ้น ICHI เมื่อวันที่ 23 มกราคม – 23 กุมภาพันธ์ 2560 จำนวน 10,263,300 หุ้น ทำให้ได้ประโยชน์จากการหลีกเลี่ยงผลขาดทุน ก่อนมีการเปิดเผยผลการดำเนินงานในงบการเงินประจำปี 2559 ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกัน  

 

 

การกระทำของนายอภิชาติ เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 5 พ.ศ. 2559 มาตรา 242 (1) การกระทำของนางอิงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 242 (2) และมาตรา 315 ประกอบมาตรา 242 (1)  และการกระทำของนางสาวสุภาณีเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 242 (1) ประกอบมาตรา 244 (4) การกระทำความผิดของผู้กระทำความผิดทั้ง 3 รายดังกล่าว มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ที่แก้ไขโดยฉบับที่ 5

 

คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ ก.ล.ต. นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับนายอภิชาติ นางอิง และนางสาวสุภาณี โดยให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด โดยในส่วนของนายอภิชาติ คิดเป็นเงินรวม 7,801,494.66 บาท นางอิง คิดเป็นเงินรวม 1,105,225.66 บาท และนางสาวสุภาณี คิดเป็นเงินรวม 24,266,517.16 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามนายอภิชาติ นางอิง และนางสาวสุภาณีเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ เป็นเวลารายละ 12 เดือน 
 

 

การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์จะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง หากผู้กระทำความผิดทั้ง 3 รายไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ทั้งนี้ ค.ม.พ. วางแนวทางให้ ก.ล.ต. ร้องขอต่อศาลเพื่อพิจารณากำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าที่ ค.ม.พ. กำหนดจนถึงอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ