ก.ล.ต.คาดตั้งกระดานเทรดหุ้น SME-สตาร์ทอัพภายใน Q2-Q3/64

05 ต.ค. 2563 | 15:01 น.
อัปเดตล่าสุด :08 เม.ย. 2564 | 08:47 น.

ก.ล.ต.คาดตั้งกระดานเทรดหุ้น SME-สตาร์ทอัพภายใน ไตรมาส 2/64 ถึงไตรมาส 3/64

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.คาดอนุมัติตั้งกระดานซื้อขายหลักทรัพย์ธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) รวมถึงสตาร์ทอัพ (กระดานที่ 3) ได้ในไตรมาส 2/64 ถึงไตรมาส 3/64 โดยขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของอนุกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก่อนเสนอให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. (บอร์ด) พิจารณาอนุมัติต่อไป เป้าหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุน SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มากขึ้นผ่านการระดมทุนในตลาดทุนไทย ซึ่งปัจจุบันมองว่าบริษัท SME ที่มีศักยภาพในการเข้ามาเทรดฯ มีอยู่ราว 40-50 ราย

รื่นวดี สุวรรณมงคล

สำหรับหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ จะเปิดให้บริษัทจำกัดและบริษัทมหาชน รวมถึงบริษัทสตาร์ทอัพสามารถเข้ามาระดมทุนผ่านช่องทางดังกล่าวได้ โดยการยื่นแบบฟอร์มข้อมูลบริษัท (Template) ซึ่งมีรายละเอียดที่น้อยกว่าการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ของบริษัทจดทะเบียนทั่วไป (บจ.) มีระยะเวลาการพิจารณาอนุมัติภายใน 14 วันทำการจึงสามารถเปิดให้เสนอขายหลักทรัพย์ (หุ้น) ได้ โดย ก.ล.ต.จะเน้นการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ผู้ลงทุนได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจการลงทุนได้อย่างครบถ้วน

 

"หลักเกณฑ์การเข้ามาเทรดบนกระดานที่ 3 ของ SME จะมีขั้นตอนไม่เหมือนกับบริษัทขนาดใหญ่ หรือเป็นการเปิดเผยข้อมูลแบบสั้นๆ บนเว็บไซต์, ไม่มีการกำหนดเกณฑ์รายได้ กำไร แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนจะต้องเป็นนักลงทุนที่เข้าใจในธุรกิจ SME นั้นๆ เป็นอย่างดี รวมถึงจะต้องมีฐานะทางการเงินอยู่ในระดับที่ดีด้วย โดยเปิดกว้างให้กับนักลงทุนทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็น นักลงทุนสถาบัน, นักลงทุนรายใหญ่, นักลงทุนรายย่อย, ไพรเวทอิคิวตี้ฟันด์ และธุรกิจเงินร่วมลงทุน (VC) เป็นต้น ประกอบกับระยะเวลาการอนุมัติให้ซื้อขายจะใช้เวลาเพียง 14 วันทำการเท่านั้น"
          

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่ามา ก.ล.ต. ก็ได้มีการสนับสนุนและเปิดช่องทางให้ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยการออกและปรับปรุงหลักเกณฑ์รองรับและลดอุปสรรคในการระดมทุน เช่น หลักเกณฑ์การออกและเสนอขายหุ้น และหุ้นกู้แปลงสภาพในวงจำกัด และหลักเกณฑ์การออกและเสนอขายหลักทรัพย์ผ่านระบบคราวด์ฟันดิง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนการระดมทุน รวมถึงการจัดกิจกรรมสัมมนาให้ข้อมูลความรู้และคำแนะนำแก่ SME ในการใช้เครื่องมือและช่องทางการระดมทุน โดยล่าสุดมี SME ที่ระดมทุนผ่านตลาดทุนประสบความสำเร็จแล้ว 13 ราย มูลค่ารวมทั้งสิ้น 78.19 ล้านบาท

 

ล่าสุด ก.ล.ต.ยังร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุน SME ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้ สอดรับภารกิจของทั้งสองหน่วยงานที่มุ่งส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนา SME ให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล

 

"ก.ล.ต. และ สสว. มีความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งคณะทำงานเสริมสร้างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจเริ่มต้น กิจการเงินร่วมลงทุน และนิติบุคคลร่วมลงทุนสู่ตลาดทุนไทย หรือ "คณะทำงาน SME Startup PE VC" และการร่วมจัดทำโครงการส่งเสริมการระดมทุนผ่านตลาดทุน (PP-SME) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ SME ที่เป็นบริษัทจำกัดสามารถระดมทุนโดยการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อบุคคลในวงจำกัดได้ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ SME เข้าถึงช่องทางการระดมทุน

 

MOU ในครั้งนี้ถือเป็นการบูรณาการความร่วมของทั้งสองหน่วยงานอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ ก.ล.ต. และ สสว. ในฐานะหน่วยงานหลักที่มุ่งพัฒนา SME ของประเทศ สามารถแลกเปลี่ยนและสนับสนุนข้อมูล ความรู้ และความเชี่ยวชาญในภารกิจระหว่างกัน ตลอดจนการนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาและส่งเสริมระบบนิเวศด้านตลาดทุนที่เหมาะสมกับความต้องการและความพร้อมของ SME ต่อไป" เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว
          

ด้านนายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการ สสว.กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง สสว. และ ก.ล.ต. ครั้งนี้ สอดคล้องกับพันธกิจหลักและทิศทางการดำเนินงานนโยบายของ สสว. ที่มุ่งเน้น 3 เรื่องคือ 1. การแสวงหาช่องทางการตลาดให้กับเอสเอ็มอีเพื่อเร่งเพิ่มรายได้ภายหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลายลง 2. การลดค่าใช้จ่ายเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการ และ 3. การอำนวยความสะดวกเพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้และกลับมาเข้มแข็งในอนาคต

 

"สสว. คาดว่า ภายใต้ขอบเขตความร่วมมือที่มุ่งเน้นเรื่องความร่วมกันพัฒนา ผลักดันและส่งเสริมให้มีระบบนิเวศตลาดทุนที่เหมาะสมกับเอสเอ็มอีเพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามความต้องการ ซึ่ง สสว. ก็จะใช้เครื่องมือของ สสว. ในการประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมความร่วมมือสู่สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านตลาดทุน เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถบริหารจัดการการเงินให้มีประสิทธิภาพรวมถึงยังเป็นการต่อยอดธุรกิจของเอสเอ็มอี สามารถเลือกลงทุนในช่องทางที่เหมาะสมได้ต่อไป"นายวีระพงศ์ กล่าว