เจ้าหนี้คาใจ”อีวาย” 5ปีลดหนี้สหฟาร์มเท่าหางอึ่ง

03 ส.ค. 2563 | 15:03 น.
8.2 k

เจ้าหนี้“สหฟาร์ม” ไฟเขียวขยายเวลาให้ อีวาย บริหารแผนฟื้นฟูฯ ต่ออีก 1 ปี แต่ กังขาชี้แจงตัวเลขไม่ชัด เหตุชำระหนี้กลุ่ม 13 น้อยมาก ไม่เชื่อมั่นทำตามแผนที่ประกาศไว้

ในการประชุม เจ้าหนี้ เพื่อพิจารณาข้อเสนอขอแก้ไข แผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท สหฟาร์ม จำกัดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม เจ้าหนี้ 86.02% มีมติให้แก้ไขแผนฟื้นฟูฯ โดยขยายเวลาบริหารแผนอีก 1 ปี รวมถึงระยะเวลาในซื้อคืนทรัพย์จากธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) จากที่เคยบริหารแผนฟื้นฟูฯ มาแล้ว 5 ปี  

 

อย่างไรก็ตาม เจ้าหนี้ ส่วนใหญ่ต้องการให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของ บริษัท สหฟาร์ม ชี้แจงแผนการบริหารงานในระยะ 1 ปี ข้างหน้าหลังจากขยายแผนฟื้นฟูฯออกไปแล้วว่า จะเป็นอย่างไร ซึ่งนางสาวชุติมา ปัญจโภคากิจ ที่ปรึกษาทางการเงิน อีวาย ยืนยันว่า ที่ผ่านมา อีวายได้มีการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูมาโดยตลอด

 

ดังนั้นจึงมั่นใจว่า ในช่วงปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงที่เหลืออยู่ของปี อีวาย จะสามารถชำระหนี้ได้ตามแผนที่วางไว้ แม้ว่าปีนี้ทั่วโลกจะประสบปัญหาโควิด-19 ก็ตาม เพราะผู้บริหารแผนมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง และการชำระหนี้ในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีปัญหาความล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดแต่อย่างใด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

5 ปี ‘สหฟาร์ม’ ในอุ้งมือ‘อีวาย’

พลิกปูม"ปัญญา โชติเทวัญ" เจ้าสัวสหฟาร์ม เจ้าของบ้านสุขาวดี

วิบากกรรม เจ้าสัวสหฟาร์ม

 

 

ส่วนกรณีข้อสงสัยจากเจ้าหนี้ถึงการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้กลุ่มที่ 13 หรือกลุ่มเจ้าหนี้การค้าและอื่นๆ ทื่ชำระได้เพียง 97 ล้านบาท ในระยเวลา 5 ปีนั้น ทางอีวาย ยืนยันจะเพิ่มสัดส่วนการชำระหนี้ดังกล่าวให้อีก 50 ล้านบาท รวมเป็นการชำระหนี้กลุ่มดังกล่าวจำนวน 150 ล้านบาทด้วยกัน

 

ขณะที่การขยายเวลาการซื้อคืนทรัพย์จากธนาคาร กรุงไทย นั้น นางสาวชุติมา ชี้แจงในที่ประชุมว่า จะสามารถซื้อทรัพย์คืนได้ในปี 2566 ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถจ่ายเงินส่วนดักล่าวไปได้จำนวนหนึ่งแล้ว

 

อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตจากเจ้าหนี้ที่เข้าประชุมเพื่อลงมติว่า ทางอีวาย ไม่สามารถชี้แจงตัวเลขดังกล่าวได้อย่างชัดเจน ทำให้เจ้าหนี้ ไม่มั่นใจในการฟื้นฟูกิจการในช่วง 1 ปีที่ขยายระยะเวลาออกไป โดยเจ้าหนี้รายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ทางอีวายชี้แจงกรณีผลการดำเนินงานของสหฟาร์มในช่วงที่ผ่านมาว่า สามารถทำกำไรได้ประมาณ 1% เท่านั้น ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับบริษัทผู้ส่งออกไก่ของประเทศหลายบริษัทที่มีกำไรเกิน 10% ทั้งหมด แต่ขณะเดียวกันอีวายได้ให้เงินเดือนตัวเองในอัตรา 5 ล้านบาทต่อเดือน และจะเพิ่มขึ้น 10% ทุกๆ ปี ซึ่งถือว่าสูงมาก ดังนั้นหากขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปจะทำให้ผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดคืออีวายเท่านั้น

 

ส่วนการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้กลุ่ม 13 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น หากคำนวณอัตราการคืนแล้วจะเฉลี่ยเพียงหลักหมื่นบาทต่อรายเท่านั้น โดยเจ้าหนี้กลุ่ม 13 ส่วนใหญ่เป็นคู่ค้ารายย่อย ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการได้หนี้คืนในสัดส่วนที่น้อยมาก ทำให้ความเสียหายส่งต่อมายังเกษตรกรรายย่อยตามไปด้วย ดังนั้นในช่วงระยะเวลาที่ขยายแผนฟื้นฟูออกไปอีก 1 ปีนั้น ไม่น่าจะทำให้สามารถชำระหนี้ได้ตามที่ประกาศไว้ได้

 

"ต้องการให้อีวายชี้แจงให้ชัดเจน ว่าจะบริหารอย่างไร เพราะที่ผ่านมา แผนฟื้นฟูมันห่วย 5 ปีลดหนี้ไม่ได้มาก แถมกำไรก็น้อยเกินไป สะท้อนว่าอีวายบริหารจัดการแย่ ฉะนั้นแล้วจะเอาอะไรมาแก้ไข 1 ปีหลังจากนี้"เจ้าหนี้ กล่าว

 

สำหรับ บริษัท สหฟาร์ม ผู้ผลิตและส่งออกไก่รายใหญ่ของไทยได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้ศาลล้มละลายกลางเมื่อปี 2557 ภายใต้มูลหนี้รวมกว่า 20,788 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ของสหฟาร์มกว่า 10,353 ล้านบาท และบริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส อีกกว่า 10,435 ล้านบาท ซึ่งศาลได้เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2558 โดยมีบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นผู้บริหารแผน และได้ดำเนินการตามแผนต่อเนื่องมาเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งขณะนี้ได้สิทธิ์ในการบริหารแผนฟื้นฟูต่อไปอีก 1 ปี

 

โดยฐานะการเงินในช่วงเวลา 5 ปี ตามการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการของอีวาย ถึงสิ้นปี 2562 พบว่า บริษัท สหฟาร์ม มีหนี้สินลดลงเพียง 649.17 บาท จาก 15,530.38 ล้านบาทในปี 2558 เหลือ 14,881.21 ล้านบาทในปี 2562 ขณะที่สินทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 7,480.29 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 8,276.62 ล้านบาทในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้น 796.32 ล้านบาท

 

ส่วน บริษัท โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส จำกัด มีหนี้สินลดลง 1,744.373 ล้านบาท จาก 15,369.97 ล้านบาท ในปี 2558 มาอยู่ที่ 13,625.60 ล้านบาท ในปี 2562 ขณะที่สินทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 7,370.34 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 7,627.33 ล้านบาทในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้น 256.99 ล้านบาท รวม 2 บริษัทหนี้สินลดลง 2,393.543 ล้านบาท ทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 1,053.31 ล้านบาท