บาทอ่อนค่าต่างชาติเมินหุ้นไทย

23 ก.ค. 2563 | 06:50 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2563 | 13:54 น.
5.5 k

โบรกเผยตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม ถึงปัจจุบัน เงินบาทอ่อนค่าลง 2.9% อ่อนค่ามากที่สุดในภูมิภาค กดดันต่างชาติลังเลลงทุนหุ้นไทยหวั่นขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน ชี้ทุกๆ 1% ทำเงินไหลออกจากตลาดหุ้นประมาณ 7,800 ล้านบาท 

แม้ว่าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในประเทศจะคลายกังวลไปได้มาก จากการที่ยังไม่มีการระบาดรอบสอง แต่ยังมีประเด็นที่ต้องจับตาภายในประเทศ หลักๆคือ การประกาศผลการ ดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ไทย งวดไตรมาส2 ปี 2563 ที่คาดว่า จะออกมาอ่อนแอ อีกทั้งการเมืองในประเทศที่ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด และประเด็นค่าเงินบาทที่กลับมาอ่อนค่าอีกครั้ง กดดันภาพรวมการลงทุนให้ลดความน่าสนใจลง โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงอยู่ในสถานะขายสุทธิต่อเนื่อง ซึ่งตั้งแต่ต้นวันที่ 1-20 กรกฎาคม 2563 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 3,722.26 ล้านบาท 

นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอเซีย พลัส จำกัดเปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1-21 กรกฎาคม 2563 ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 2.9% มากที่สุดในภูมิภาค ส่วนหนึ่งมาจากการย้ายเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติออกจากไทย ทำให้เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าอีกครั้ง ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติลังเลที่จะลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้น เพราะมีโอกาสขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน อีกทั้งยังสอดคล้องกับสถิติในอดีตย้อนหลัง 5 ปี ที่ทุกๆ ค่าเงินบาทอ่อนค่าเฉลี่ย 1% จะส่งผลต่อเงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นเฉลี่ยประมาณ 7,800 ล้านบาท 

บาทอ่อนค่าต่างชาติเมินหุ้นไทย

อย่างไรก็ตาม มองว่าเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติอาจลดน้อยลง ส่งผลให้การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทยต่อจากนี้ค่อนข้างจะจำกัด และต้องหวังพึ่งแรงผลักดันจากนักลงทุนในประเทศเป็นหลัก โดยกลยุทธ์การลงทุนเน้นหุ้นส่งออกพื้นฐานแข็งแกร่ง รวมถึงได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าแรง จากค่าเงินบาททุกๆ 1 บาทที่อ่อนค่า จะหนุนกำไรหุ้นในกลุ่มส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 ล้านบาท คือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 500 ล้านบาท, กลุ่มเกษตรและอาหารประมาณ 1,500 ล้านบาท ขณะที่ หุ้นขนาดกลาง-เล็กพื้นฐานแข็งแกร่ง ถือเป็นเป้าหมายอันดับต้นของการนักลงทุนในประเทศ และจะ Outperform ตลาดต่อเหมือนช่วงที่ผ่านๆ มา

ด้านบล.เคทีบี(ประเทศไทย)จำกัด ระบุว่าแนะนำหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า
โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกคือ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) (KCE) และบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) (HANA), กลุ่มอาหาร จากการมีรายได้ส่วนใหญ่จาก
ต่างประเทศ คือ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) (STA), บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TU), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF), บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ASIAN) และบริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) (GFPT) ส่วนอุตสาหกรรมอื่น ได้แก่ บริษัท สหมิตรถังแก๊ส จำกัด (มหาชน) (SMPC), บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) (MEGA), บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (EPG) และบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (STGT)

ขณะที่ หุ้นหรืออุตสาหกรรมที่คาดว่า จะได้รับผลลบจากค่าเงินบาทอ่อนค่า คือ กลุ่มสายการบิน ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (THAI), บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) (AAV) และบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BA) มีโครงสร้างต้นทุนเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐประมาณ 60% ด้านกลุ่มพลังงาน มีเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐส่งผลให้มีการบันทึก unrealized fx loss เรียงลำดับมากสุด ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP)

ขณะเดียวกัน กลุ่มโรงไฟฟ้า จากการมีเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐส่งผลให้มีการบันทึก unrealized fx loss เข้ามา แต่รายการดังกล่าวเป็นเพียงรายการทางบัญชีและไม่ได้มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดคือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF), บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BGRIM), บริษัท โกลบอลเพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC), บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH), บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (WHAUP) และบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) 

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,594 วันที่ 23 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2563