"ศรีตรังโกลฟส์" เตรียมขายหุ้น IPO  444,780,000 หุ้น 

14 เม.ย. 2563 | 13:44 น.
2.3 k

บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย)หรือ STGT ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางรายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก เร่งเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งเป็นกว่า 3 หมื่นล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2563 เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตถุงมือยางท็อป 3 ของโลก พร้อมเสริมความแข็งแกร่งด้านเงินทุนด้วยการเดินหน้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) โดยเสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 444,780,000 หุ้น

 

นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT หนึ่งในผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรล์รายใหญ่ของโลก เปิดเผยว่า ปัจจุบัน STGT เป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดในไทยและรายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 บริษัทฯ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 27,153 ล้านชิ้นต่อปี จากโรงงาน 3 แห่ง ได้แก่ จังหวัดสงขลา สุราษฎร์ธานีและตรัง รวม 132 สายการผลิต และอยู่ระหว่างขยายกำลังการผลิตติดตั้งเป็นประมาณ 32,000 ล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2563 รวมทั้งยังมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความเป็นผู้นำของการผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางในตลาดโลกอย่างยั่งยืน

บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด ‘Touch of Life’ เพราะทุกสัมผัสนั้นมีความหมายต่อชีวิต สื่อถึงความสำคัญของผลิตภัณฑ์ถุงมือยางที่เป็นสัมผัสแรกในการช่วยปกป้องทุกชีวิต โดยบริษัทฯ ใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิตตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบ เลือกใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากล และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ เช่น โรงงานสุราษฎร์ธานีเป็นแห่งแรกที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO 14001: 2015, โรงงานหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้รับรางวัล CSR-DIW Continuous 2 ปีติดต่อกัน นอกจากนี้ บริษัทฯ และกลุ่ม บมจ.ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี ได้ร่วมกันพัฒนาและคิดค้นน้ำยางข้นที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก FSC ซึ่งเป็นองค์การจัดการด้านป่าไม้ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ในเรื่องการบริหารจัดการป่าไม้อย่างรับผิดชอบ

ปัจจุบัน บริษัทฯ แบ่งการดำเนินธุรกิจเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติ (Latex Glove) ประกอบด้วยถุงมือยางธรรมชาติชนิดมีแป้ง (Latex Powdered Glove) และถุงมือยางธรรมชาติชนิดไม่มีแป้ง (Latex Powder Free Glove) และ 2. ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางไนไตรล์ (Nitrile Glove) ที่ผลิตจากน้ำยางสังเคราะห์ เพื่อใช้ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากนี้ บริษัทฯ มีกลุ่ม บมจ.ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในโลกเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จึงเพิ่มความมั่นคงด้านการจัดหาวัตถุดิบและการควบคุมคุณภาพ ประกอบกับทำเลที่ตั้งของโรงงานที่อยู่ในแหล่งเพาะปลูกยางพารา จึงสามารถจัดหาน้ำยางต้นทุนต่ำ รวมทั้งได้นำเทคโนโลยีการผลิตแบบอัตโนมัติ (Automation) มาใช้ในบางสายการผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลนในอนาคตและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต

ทั้งนี้ ในปี 2562 บริษัทฯ จำหน่ายสินค้าในไทยและส่งออกกว่า 95 ประเทศทั่วโลก ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทฯ บริษัทย่อย และกลุ่ม บมจ. ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี หรือ STA ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทฯ เช่น ศรีตรังโกลฟส์, SRI TRANG GLOVES, ซาโตรี่, I’M GLOVE ฯลฯ และรับจ้างผลิต (OEM) โดยผลประกอบการปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้รวม 12,224.02 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 10.3% เมื่อเทียบกับปี 2561 และมีกำไรสุทธิในปี 2562 จำนวน 613.91 ล้านบาท 

กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมถุงมือยางทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยมาจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์และการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยของผู้บริโภคทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีโอกาสเติบโตสูง อาทิ ทวีปเอเชียตะวันออก ทวีปเอเชียใต้ ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ ฯลฯ ทั้งนี้ สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางแห่งมาเลเซีย หรือ Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association (MARGMA) คาดการณ์ความต้องการถุงมือยางทั่วโลกในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 300,000 ล้านชิ้น เติบโตเฉลี่ย 12% ต่อปี จากปี 2559 ที่มีความต้องการใช้ 212,000 ล้านชิ้นต่อปี

“นอกจากปัจจัยการเติบโตจากอุตสาหกรรมทางการแพทย์แล้ว คาดว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ในปัจจุบันที่มีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องใส่ใจสุขภาพและความปลอดภัยมากขึ้น จะส่งผลต่อความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอนามัยเพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการการใช้ถุงมือยางอีกด้วย” นางสาวจริญญา กล่าว

นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า ปัจจุบัน บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) มีทุนจดทะเบียน 1,434,780,000 บาท คิดเป็นจำนวน 1,434,780,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท โดยเป็นทุนชำระแล้ว 990,000,000 บาท และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 444,780,000 หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 31 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้

แบ่งเป็น 1. เสนอขายแก่บุคคลทั่วไป นักลงทุนสถาบัน และผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 432,780,000 หุ้น 2. เสนอขายแก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน บมจ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี และบริษัทย่อย จำนวนไม่เกิน 2,000,000 หุ้น 3. เสนอขายแก่กรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) และบริษัทย่อย จำนวนไม่เกิน 10,000,000 หุ้น โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าวครั้งแรก ณ วัน IPO จำนวนไม่เกิน 4,000,000 หุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เหลือจำนวน 6,000,000 หุ้นจะถูกเสนอขายในปีที่ 1 ถึงปีที่ 2 ภายหลังวัน IPO และ 4. หุ้นที่เหลือจากการจัดสรรในส่วนที่ 2-3 (ถ้ามี) จะเสนอขายแก่บุคคลทั่วไป นักลงทุนสถาบัน และผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ

ทั้งนี้ บริษัทฯ จะนำเงินจากการระดมทุนครั้งนี้ไปขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตถุงมือยาง ลงทุนติดตั้งระบบ SAP ชำระเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ คาดว่าจะนำ บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปีนี้