10 อันดับมหาเศรษฐีไทย "เจียรวนนท์" รวยอู้ฟู่ 9 แสนล้าน

03 เม.ย. 2563 | 10:50 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ค. 2563 | 09:28 น.
16.7 k

ฟอร์บส์ จัดอันดับเศรษฐีไทยปีล่าสุดผลปรากฏว่า ทรัพย์สินรวมของ 50 เศรษฐีไทย ลดลงกว่า 28,000 ล้านดอลลาร์ หรือลดลงประมาณ 9 แสนล้านบาท 

ฟอร์บส์ เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งได้เริ่มชะลอตัวแล้วจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ต้องถูกกระหน่ำซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บุคคลร่ำรวยที่สุดจากการจัดอันดับของ Forbes ประจำปี 2020 มีทรัพย์สินรวมกันลดลงถึง 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการลดลงถึงร้อยละ 18 เหลือเพียง 1.32 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 4.35 ล้านล้านบาท

 

ที่ผ่านมาแม้ว่ารัฐบาลจะได้ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ยังทรุดหนักโดยปรับตัวลดลงต่อเนื่องไปแล้วเกือบ 1 ใน 3 เทียบจากเดือนเมษายน 2019 เป็นผลให้มหาเศรษฐี 38 คนในทำเนียบมีทรัพย์สินสุทธิลดลง ในจำนวนนี้มี 6 คนที่ความมั่งคั่งลดลงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 3.3 หมื่นล้านบาท
 

สำหรับ10 อันดับแรกทำเนียบมหาเศรษฐีของไทย ประกอบด้วย

อันดับ 1 พี่น้องเจียรวนนท์                         2.73  หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (9 แสนล้านบาท)
อันดับ 2 เฉลิม อยู่วิทยา                           2.02  หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (6.66 แสนล้านบาท)
อันดับ 3 เจริญ สิริวัฒนภักดี                       1.05  หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3.46 แสนล้านบาท)
อันดับ 4 ตระกูลจิราธิวัฒน์                         9.5   พันล้านดอลลารสหรัฐฯ (3.13 แสนล้านบาท)
อันดับ 5 สารัชถ์ รัตนาวะดี                         6.8  พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2.24 แสนล้านบาท )
อันดับ 6 อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา               3.8   พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.25 แสนล้านบาท)
อันดับ 7 ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ                   3.1   พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.02 แสนล้านบาท)
อันดับ 8 ตระกูลโอสถสภา                          3   พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  (9.9 หมื่นล้านบาท )
อันดับ 9 วานิช ไชยวรรณ                        2.8   พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (9.24 หมื่นล้านบาท)
อันดับ 10 ชูชาติ-ดาวนภา เพชรอำไพ        2.65  พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (8.74 หมื่นล้านบาท)

อย่างไรก็ตามพี่น้องตระกูลเจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังครองตำแหน่งอันดับ 1 แม้ว่าทรัพย์สินของพวกเขาจะลดลง 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือลดลง 7.2 หมื่นล้านบาท จาก 2.95 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (9.73 แสนล้านบาท) ไปอยู่ที่ 2.73 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (9 แสนล้านบาท) และเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้เข้าซื้อกิจการของเทสโก้ในไทยและมาเลเซียมูลค่า 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯได้สำเร็จ

 

"เฉลิม อยู่วิทยา" ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังระดับโลกอย่าง Red Bull ร่วมกับตระกูลของเขา มาในอันดับที่ 2 เขาเป็นใน 1 ใน 8 ผู้มีรายชื่อในทำเนียบที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น แม้ภาพรวมจะย่ำแย่ โดยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.99 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (6.56 แสนล้านบาท) เมื่อปีก่อน เป็น 2.02 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้(6.66 แสนล้านบาท)

 

10 อันดับมหาเศรษฐีไทย \"เจียรวนนท์\" รวยอู้ฟู่ 9 แสนล้าน

 

"เจริญ สิริวัฒนภักดี" จากเครือไทยเบฟเวอเรจ ขยับขึ้นมาในอันดับที่ 3 ด้วยทรัพย์สิน 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3.46 แสนล้านบาท) อย่างไรก็ดีทรัพย์สินสุทธิของเขาลดลงจาก 1.62 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (5.34 แสนล้านบาท) ในปีที่ผ่านมา หรือลดลง 1.88 แสนล้านบาท

 

"ตระกูลจิราธิวัฒน์" หล่นจากอันดับที่ 2 มาอยู่ในอันดับที่ 4 ในปีนี้ ด้วยความมั่งคั่งที่ลดลงกว่าครึ่งไปอยู่ที่ 9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3.13 แสนล้านบาท) พวกเขาเพิ่งนำบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด  (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยนับเป็นการเสนอขายหุ้นไอพีโอครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

 

แต่ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวและนักช็อปที่ลดลงอย่างมาก ทำให้ราคาหุ้นของเซ็นทรัล รีเทล ต่ำกว่าราคาไอพีโอถึงร้อยละ 27 โดยตกลงต่อเนื่องตั้งแต่เข้าการซื้อขาย 

 

ส่วนมหาเศรษฐีของไทยอันดับที่ 5 สารัชถ์ รัตนาวะดี  แม้ว่าราคาพลังงานทั่วโลกจะประสบภาวะตกต่ำครั้งรุนแรง มหาเศรษฐีจากวงการพลังงานของไทย 3 ใน 4 คนกลับมีทรัพย์สินงอกเงย ทั้งนี้เป็นผลจากการที่พวกเขาพุ่งความสนใจไปที่ก๊าซธรรมชาติและพลังงานทดแทน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในการหันไปหาเชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น

 

ในจำนวนนี้มี "สารัชถ์ รัตนาวะดี" ผู้ที่ทำเงินเพิ่มขึ้นมากที่สุด ด้วยทรัพย์สินสุทธิ 6.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2.24 แสนล้านบาท) พุ่งขึ้น 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (5.28 หมื่นล้านบาท) ขณะที่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ฯ ของเขาเปิดโรงพลังงานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มเติม ตลอดจนเข้าดำเนินการโครงการใหม่ ๆ อาทิ ท่าเรือและถนน

 

ปีนี้ Forbes กำหนดทรัพย์สินสุทธิขั้นต่ำสำหรับผู้ที่จะมีรายชื่ออยู่ในทำเนียบที่ 460 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจาก 565 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2019


การจัดอันดับนี้ใช้ข้อมูลการเงินและการถือครองหุ้นที่ได้รับจากทางครอบครัวและปัจเจกบุคคล ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ นักวิเคราะห์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและหน่วยงานกำกับดูแลหลายแห่ง อันดับนี้ต่างจากอันดับอภิมหาเศรษฐีตรงที่มีการรวมถึงทรัพย์สินของครอบครัวและทรัพย์สินที่ถือครองโดยสมาชิกครอบครัวหลายรุ่น ทั้งนี้ มูลค่าทรัพย์สินในบริษัทมหาชนเป็นการคำนวณจากราคาหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 13 มีนาคม ทรัพย์สินในบริษัทที่ถือครองส่วนตัวประเมินค่าโดยเปรียบเทียบกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเดียวกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ