ภาษีความเค็ม-เบียร์0% ชะงัก เซ่นพิษโคโรนา

17 ก.พ. 2563 | 15:40 น.
1.4 k

สรรพสามิต รับ โคโรนา กระทบการพิจารณาภาษีความเค็มและเบียร์ 0% มองเหตุการณ์เฉพาะหน้าต่อแก้ไขให้แล้วเสร็จก่อน พร้อมรับจัดเก็บรายได้เดือนมี.ค.อาจลดลง เหตุคนไม่เที่ยว-ไม่จับจ่ายใช้สอย แต่ยังยันเป้าปีนี้ 6.22 แสนล้านบาทเท่าเดิม ชี้ให้ดูหลังเม.ย.หากบริโภคยังชะลอตัว อาจไม่ได้ตามเป้า

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ยอมรับว่าสถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนา(Covid-19) ส่งผลให้การพิจารณาการจัดเก็บภาษีความเค็ม และภาษีเบียร์ไร้แอลกอฮอล์(เบียร์ 0%) ต้องชะลอออกไปก่อน เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานด้านสาธารณสุขจะต้องระดมกำลังเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้แล้วเสร็จก่อน ถึงจะพิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้ต่อไป ซึ่งล่าสุดในส่วนของภาษีความเค็มนั้น ยังอยู่ระหว่างการสรุปร่วมกันระหว่างสาธารณสุข และกรมสรรพสามิตจะกำหนดเพดานการบริโภคโซเดียมในแต่ละวันว่าควรมีปริมาณเท่าใด จากเพดานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดต้องไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน และควรแบ่งการคำนวณการบริโภคต่อมื้อจะแบ่งเป็น 3 มื้อ หรือ 5 มื้อการบริโภค เพื่อคำนวณการบริโภคต่อหน่วยสินค้าที่เหมาะสมได้อย่างถูกต้อง โดยที่ผ่านมาได้หารือกับสมาคมอาหารสำเร็จรูปแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการก็พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ขอเพียงแค่มีความชัดเจนในสัดส่วนที่กำหนดเท่านั้น 

ภาษีความเค็ม-เบียร์0% ชะงัก เซ่นพิษโคโรนา

ขณะที่การจัดเก็บภาษีเบียร์ 0% นั้น อยู่ระหว่างการร่วมกันปรับปรุงคำนิยามและแนวทางการจำหน่ายและการจัดเก็บภาษีให้เหมาะสมอยู่ เนื่องจากนักวิชาการให้ความเห็นว่าไม่ควรมีการจัดเก็บ เพื่อให้ราคาไม่สูงเมื่อเทียบเบียร์ปกติ แต่ในมุมมองของกรมควรมีการจัดเก็บเพื่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างการจัดเก็บภาษีน้ำหวาน ภาษีเบียร์0% และภาษีเบียร์ปกติ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจความหมายของเบียร์0% มากขึ้น


“เรายืนยันไปว่าจะเก็บภาษีเบียร์ 0% ในอัตราที่สูงกว่าภาษีน้ำหวานที่จัดเก็บอยู่ 14% แต่ต้องต่ำกว่าภาษีเบียร์ทั่วไปที่จัดเก็บที่ 28% เพื่อให้คนเห็นให้ชัดว่าเบียร์0% ไม่ใช่น้ำหวาน ไม่ได้จูงใจให้คนดื่มมากขึ้น แต่ก็ต้องถูกกว่าภาษีเบียร์ปกติ จะไม่ได้เป็นการจูงใจอีก ซึ่งตรงนี้ ต้องหารือกับสาธารณสุข แต่ต้องรอไปก่อน เพราะเข้าใจว่ายุ่งกับเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่จำเป็นมากกว่าก่อน”นายพชร กล่าว

ภาษีความเค็ม-เบียร์0% ชะงัก เซ่นพิษโคโรนา

ส่วนความคืบหน้าการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินเหลือ 20 สตางค์ต่อลิตร ตามมาตรการช่วยเหลือสายการบินในประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 นั้น นายพชร กล่าวว่า กรมได้ปรับปรุงคำนิยามและแนวทางการจำหน่ายและการจัดเก็บภาษีให้กฤษฎีกาตีความแล้ว คาดว่าจะมีผลบังคับได้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งยืนยันการปรับลดภาษีดังกล่าว ไม่ได้มีผลต่อการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันโดยรวม 
 

อย่างไรก็ตามยอมรับ Covid-19 จะมีผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมในช่วงเดือนมี.ค.2563 ให้ปรับตัวลดลงบ้าง โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน รวมถึงภาษีเครื่องดื่มทุกประเภท เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวกระทบต่อบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวของประชาชนและการจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่มีผลต่อภาษีสรรพสามิตต่างๆ แต่เชื่อว่าการจัดเก็บภาษีจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์อีกครั้งได้ โดยเฉพาะหากมีมาตรการให้เพิ่มวันหยุดยาวออกไปเป็น 9 วัน ตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีพิจารณา รวมถึงการส่งเสริมไทยเที่ยวไทย เพราะจะทำให้เกิดการบริโภคสินค้าที่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพสามิตมากขึ้นได้

“ตอนนี้ยังคงเป้าจัดเก็บปีงบ 2563 ไว้ที่ 6.22 แสนล้านบาทเท่าเดิม  เพราะเชื่อว่าหลังเม.ย.สถานการณ์การจับจ่ายของคนจะดีขึ้น แต่ก็ต้องดูความเป็นจริงหลังเม.ย.ถ้าหากการบริโภคในประเทศยังไม่พื้น กรมก็ต้องมาทบทวนดูใหม่ว่าเป้ารายได้ปีนี้จะเป็นอย่างไร”นายพชร กล่าว