แย่งคลื่น5G  กดดันหุ้นสื่อสารวูบ

16 ม.ค. 2563 | 19:20 น.
509

บจ.กลุ่มสื่อสารตบเท้ารับเอกสารประมูลคลื่น 5G ชี้ผู้ร่วมประมูลเพิ่มขึ้น ส่งแรงกดดันแข่งขันราคาสูงขึ้น คาดกระทบผลการดำเนินงานปี 2563

นายศุภชัย วัฒนวิเทศกุล นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย ในกลุ่มสื่อสาร คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE), บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) รวมถึงบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT) 
เข้ารับเอกสารการประมูลคลื่น 5G ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 แล้ว ส่วนบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (ADVANC) ได้เข้ารับเอกสารในวันที่ 14 มกราคม 2563 ซึ่งการเข้ารับซองของผู้เล่นหลัก 3 ราย รวมถึง CAT และ TOT ไม่ได้เหนือจากคาดหมายของตลาด เนื่องจาก CAT และ TOT แสดงความสนใจ แต่จำนวนผู้เข้าประมูลยิ่งเพิ่มขึ้น จะยิ่งเป็นแรงกดดันต่อกลุ่มสื่อสารในระยะสั้น จากโอกาสแข่งราคาที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม จับตา 2 วันสำคัญที่อาจปลดล็อกราคาหุ้น ได้แก่ ช่วงระยะเวลาจนกว่าจะถึงวันสุดท้ายที่มีสิทธิเข้ารับเอกสารประมูล คือ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 หากไม่มีเอกชนรายใหม่เข้ารับซอง เช่น บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (JAS) ตลาดจะเริ่มคลายความกังวลด้านการแข่งขัน แต่หากมีเอกชนรายใหม่เข้ารับเอกสาร กลุ่มจะยิ่งถูกกดดันหนักกว่าเดิม นอกจากนี้วันประมูลคลื่นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ให้จับตาผลลัพธ์การประมูลคลื่น หากออกมาในลักษณะแข่งขันแย่งคลื่น 5G อย่างรุนแรง หรือเกิดผู้เล่นรายใหม่จะเป็นลบต่อกลุ่ม แนะนำหลีกเลี่ยงไปก่อน แต่หากไม่เกิดผู้เล่นรายใหม่และเป็นเพียงการแบ่งคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ในสัดส่วนที่เหมาะสม คาดหุ้นในกลุ่มจะทยอยฟื้นตัว

ทั้งนี้ คลื่นที่เหมาะสำหรับทำ 5G ในการประมูลรอบนี้คือ คลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ เปิดประมูลทั้งหมด 19 ใบ รวมปริมาณทั้งหมด 190 เมกะเฮิรตซ์ ผู้เล่นหนึ่งรายมีสิทธิประมูลได้สูงสุดไม่เกิน 10 ใบ หรือ 100 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งคาดว่า ADVANC DTAC และ TRUE จะสนใจในการประมูลรอบนี้ โดยเชื่อว่าการแข่งขันด้านราคาอาจเกิดขึ้นได้บ้าง จากความต้องการซื้อมากกว่าความต้องการขาย แต่ไม่มาก เพราะโอกาสประมูลคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ ที่ดีกว่าและความเสี่ยงของการเร่งลงทุนเร็วเกินไป

แย่งคลื่น5G  กดดันหุ้นสื่อสารวูบ

 

สำหรับราคาตั้งต้นคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ อิงที่ 1,860 ล้านบาท ต่อ 10 เมกะเฮิรตซ์ ต่อ 1 ใบอนุญาต และประมูลได้ไม่เกิน 10 ใบต่อราย จะเท่ากับต้นทุนส่วนเพิ่มไม่เกิน 18,600 ล้านบาทต่อราย หากสมมติให้ผู้ประกอบการไม่สามารถทำประโยชน์เพิ่มได้เลย และให้เงินสดออกทั้งหมดตั้งแต่วันแรก จะกระทบต่อราคาเหมาะสมของ ADVANC ที่ 6 บาทต่อหุ้น, DTAC ที่ 8 บาทต่อหุ้น และ TRUE ที่ 0.5 บาทต่อหุ้น ขณะที่กำไรจะถูกกระทบประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี โดยกระทบกำไรปี 2563 ของ ADVANC ที่ 3%, DTAC ที่ 18% และ TRUE ที่ 56% ซึ่งผลกระทบอาจมากขึ้น หากเกิดการแข่งขันด้านราคา

ด้านบล.ทิสโก้ฯ ระบุว่า คาดผลประกอบการของกลุ่มสื่อสารจะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และการเติบโตของรายได้ที่จำกัด แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากฐานที่ตํ่า โดยคาดว่าผลประกอบการของกลุ่มจะลดลง 22% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 365.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้มีมุมมองที่เป็นกลางต่อกลุ่มและแนะนำให้ซื้อTRUE ที่ราคาเหมาะสม 7.00 บาท และ INTUCH ราคา 71.00 บาท

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,540 วันที่ 16-18 มกราคม 2563