4 แบงก์อ่วม 9 เดือน ผลกำไรวูบ

19 ต.ค. 2562 | 09:59 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2562 | 18:24 น.
98.7 k

9 ธนาคารพาณิชย์รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 กำไรสุทธิขยับ 1.48 % มูลค่า 4.68 หมื่นล้านบาท ขณะงวด 9 เดือนเพิ่มขึ้น 3.92% มูลค่า 1.39 แสนล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อน -รายได้ดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมหนุน 4 ค่ายวูบ"กรุงไทย-ทีเอ็มบี-เกียรตินาคิน-แอลเอชแบงก์" เหตุทุกธนาคารให้น้ำหนักรักษาระดับความเพียงพอของเงินกองทุน-กันสำรองหนี้สูญและรับมาตรฐานบัญชี IFRS9

 

สำหรับธนาคารที่ยังคงรักษาอัตราการทำกำไรได้เพิ่ม นำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ธนาคาร ธนชาต ธนาคาร กรุงเทพฯ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารทิสโก้ ส่วน 4 ธนาคาร มีกำไรสุทธิ ปรับลดลง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย  ทีเอ็มบี   เกียรตินาคินและบริษัทแอลเอชไฟแนนซ์เชียลกรุ๊ปจำกัด(มหาชน)หรือแอลเอชเอฟจี

 

ทั้งนี้  ธนาคารกรุงเทพ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 4.5% ส่วนใหญ่มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ เพิ่มขึ้น 9.6% เป็นผลจากการเติบโต ของค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวมตามเจตนารมณ์เชิงกลยุทธ์ของธนาคาร แม้ว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิจะปรับลดเล็กลดลง 1.7%ตามการลดลงของสินเชื่อ โดยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.35% และค่าใช้จ่าย ดำเนินงาน ลดลง 1.5% สะท้อนถึงวินัยการบริหารค่าใช้จ่ายของธนาคาร

4 แบงก์อ่วม 9 เดือน ผลกำไรวูบ

นายอาทิตย์   นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่าไตรมาส 3 ปีนี้ ธนาคารมีการบันทึกกำไรที่เกิดจากการขายบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตแต่เนื่องจากธนาคารเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความแข็งแกร่งเพื่อรองรับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ จากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ จึงได้เพิ่มระดับการตั้งสำรองเพื่อรองรับหนี้ด้วยคุณภาพที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกัน ธนาคารเล็งเห็นศักยภาพในการขยายธุรกิจเพื่อที่จะเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะธุรกิจความมั่งคั่งและธุรกิจประกันชีวิตที่จะเริ่มทำงานร่วมกับพันธมิตร FWD Group ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 เป็นต้นไป รวมถึง ธนาคารยังแสวงหาโอกาสในการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตในระยะต่อไปให้แก่ธนาคาร

4 แบงก์อ่วม 9 เดือน ผลกำไรวูบ

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2562  ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ จำนวน 6,355 ล้านบาท ลดลง 18.9% จากรายการพิเศษค่าใช้จ่ายสำรองผลประโยชน์พนักงานที่ปฏิบัติงานในช่วงก่อนเกษียณอายุติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้ได้รับเงินตอบแทนเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจที่มีผลบังคับใช้ในไตรมาสนี้ จำนวน 2,374 ล้านบาท ซึ่งหากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าว กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 5.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ   ธนาคารมีรายได้รวมจากการดำเนินงาน 9.40 หมื่นล้านบาท เติบโต 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน   ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อ 5.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อบุคคลและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อภาครัฐ  รวมทั้งกำไรจากเงินลงทุน

 

ช่วง 9 เดือนของปี 2562 ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิเท่ากับ 21,825 ล้านบาทลดลง 2.3% หากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าว กำไรสุทธิ 9 เดือน เพิ่มขึ้น 9.5% โดยธนาคารมีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ของงบการเงินรวม ณ 30 กันยายน 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 128.07% จาก 125.74% ณ 31 ธันวาคม 2561 มี NPLs Ratio-Gross เท่ากับ 4.58% และมี NPLs Ratio-Net อยู่ที่1.92%  ทั้งนี้ ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง (งบการเงินเฉพาะธนาคาร) เท่ากับ14.54% และ19.63% ตามลำดับ

4 แบงก์อ่วม 9 เดือน ผลกำไรวูบ

นายเซอิจิโระ  อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจโดยรวม จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่ออุปสงค์ภายในประเทศและการขยายตัวทางเศรษฐกิจคาดว่าเศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากที่ประเมินไว้ก่อนหน้าโดยปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยลงมาอยู่ที่ 2.9%จาก 3.2%  แต่จากนโยบายการเงิน ที่ผ่อนคลายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะยังคงเคลื่อนหนุนต่อการเติมโตของเศรษฐกิจต่อเนื่องในไตรมาส 4 ของปีนี้และคาดว่าสินเชื่อจะขยายตัวอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 6-8%