NCB ห่วงผู้กู้หน้าใหม่พบเจนzโผล่ถือบัตรเครดิตสินเชื่อบุคคล

04 มิ.ย. 2562 | 14:35 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มิ.ย. 2562 | 11:17 น.
1.4 k

 

ระหว่างที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังรวบรวมข้อมูลสัดส่วนหนี้ต่อรายได้หรือ DSR ที่แต่ละสถาบันการเงินนำมาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เพื่อสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต ซึ่งเป็นอีกความพยายามของธปท.ที่จะแตะเบรกหรือหยุดการก่อหนี้ภาคครัวเรือน ที่เกิดจากการก่อหนี้สะสมจนเป็นความเปราะบางของกำลังซื้อในประเทศและเศรษฐกิจไทย

“ฐานเศรษฐกิจ” จึงเป็นตัวกลางสะท้อนแง่คิดของนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูล เครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโรหรือ NCB) ผู้ตกผลึกด้านเครดิตและความเสี่ยงทั้งจากประสบการณ์ทำงานในธนาคารพาณิชย์มายาวนานและผู้กุมฐานข้อมูลเครดิตของประเทศ โดยมีหลายประเด็นที่เป็นประโยชน์ทั้งระดับองค์กรและประชาชนผู้บริโภค

“สุรพล” เปิดเผยว่า เดือนมิถุนายนนี้ ธปท.จะมีคำตอบเรื่อง DSR จากนั้นคงจะกำหนดวันเวลาว่า จะเริ่มใช้เมื่อไหร่ ส่วนตัวคาดเดาว่า ธปท.จะคุมรายได้ตั้งแต่ 3 -5 หมื่นบาท เพื่อไม่ให้ก่อหนี้เพิ่ม อย่างสมมติ ถ้ารายได้ 3 หมื่นบาทสุทธิ ซึ่งหักเงินนำส่งประกันสังคมแล้ว  DSR ที่ 60% คือ ผ่อนหนี้ทุกอย่างราว 1.8 หมื่นบาทที่เหลือ 1.2 หมื่นบาท เฉลี่ยใช้จ่ายวันละ 400บาท ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องคิดคำนวณว่า ต้องเหลือกินเหลือใช้ขั้นตํ่าที่สุดเท่าไร

NCB ห่วงผู้กู้หน้าใหม่พบเจนzโผล่ถือบัตรเครดิตสินเชื่อบุคคล

 

ทั้งนี้ สปิริตของเครดิตบูโรคือ ต้องให้ข้อมูลที่สำคัญของผู้กู้คือ รายได้ต้องชัดเจน แน่นอน สมํ่าเสมอ อย่างข้อมูลที่ NCB มีขณะนี้คือ 28 ล้านคน ซึ่่งในจำนวนนี้มี 16-17 ล้านคน ที่มีประวัติการกู้สมํ่าเสมอ ซึ่งการกู้ทุกครั้งจะมีรายได้ปรากฏฎขึ้น และทำให้มีผลต่อการคำนวณ DSR เมื่อมีการไปยื่นกู้กับสถาบันการเงินอื่น อย่างคนไปกู้ธนาคารพาณิชย์ได้อนุมัติวงเงิน 5 แสนบาท แต่คนเดิมไปกู้ธนาคารรัฐ(SFIs) กลับได้รับอนุมัติถึง 2 ล้านบาท ซึ่งถ้าย้อนกลับไปดูประวัติการกู้ที่ผ่านมา จะเห็นรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งถือเป็นข้อมูลสำคัญ

“ข้อมูลเหล่านี้จะไหลมาที่ NCB ซึ่งมีฐานข้อมูล 28 ล้านคนอยู่ในมือแล้วที่เป็นข้อมูลสินเชื่อ เหลือเพียงการนำไปรวมเป็นอัตราของ DSR ซึ่งเป็นข้อมูลชุดเดียวกันอยู่แล้ว เราสามารถทำได้ภายใน 2 เดือน เพราะข้อมูลเป็นดิจิทัลอยู่แล้ว โดยไม่ต้องมีต้นทุนเพิ่ม เพียงออกคำสั่ง หรือจะเอาข้อมูลของกรมสรรพากรก็ได้ เพียงแต่จะต้องได้รับความยินยอมให้กรมเปิดเผยข้อมูลที่เขายื่นให้แบงก์ เป็นการใช้ข้อมูลเดิมแค่ยำรวมกันเป็นข้อมูลชุดหนึ่ง เหมือนวันนี้ผมรวมข้อมูลได้ เพราะทุกคนนำข้อมูลมาให้”

อย่างไรก็ตามไตรมาส1 ปีนี้ ยอดรวมสินเชื่อปล่อยใหมทั้งสิ้น 1.95 ล้านบัญชี จากสินเชื่อ 4 ประเภทคือ บ้าน รถยนต์ บัตรเครดิตและส่วนบุคคล แม้ทางการจะมีมาตรการกำกับเมื่อปี 2560 แต่เริ่มออกอาการ สังเกตุสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต พบว่า ตอนนี้ GEN Z คือคนที่เกิดปี 2540 มีอายุตํ่ากว่า 22 ปี โผล่มาถือบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลแล้ว 1% จึงห่วงผู้กู้หน้าใหม่ อายุน้อยเยอะขึ้น แสดงว่า ผลิตภัณฑ์การเงินเริ่มทำตลาดผ่อนชำระ ลงมาที่คนหนุ่มคนสาวที่มีรายได้ฐานล่างอันนี้น่าห่วง

“ผมกลัวจะคุมหนี้เสียยาก เพราะผ่อน 0% โอกาสคนจะเข้าไปซื้อสูง หากมาตรการ DSR ออกมาจะกระทบกลุ่มนี้ รวมถึงอีก 2 กลุ่มคือ GENX และ GENY ที่มีปัญหาเป็นหนี้เสียอยู่แล้วประมาณ 2.1 แสนล้านบาท”

ดังนั้น เราจะหยุดพฤติกรรมก่อหนี้ที่เสี่ยงของ First Time Borrower หรือทำอย่างไรไม่ให้เสพติด 0% ซึ่งยากจริงๆ ในแง่ของคนที่ผ่อนชำระจะได้ประโยชน์ แต่เมื่อไหร่ที่เห็นแคมเปญ 0% ยาวขึ้นแสดงว่า ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพราะยอดผ่อนชำระจะน้อยลงในส่วนของสัญญาณผู้ให้กู้ ดูเหมือนจะมีความกังวลไม่สบายใจคุณภาพ โดยสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้เพิ่มความถี่ในการเข้าดูข้อมูลของลูกค้าเก่า จากเดิม 6 เดือนลดเวลาเข้าดูเป็น 3 เดือน โดยจะดูกลุ่มรายได้ระดับปานกลางลงล่าง มีโอกาสผิดนัดชำระ ช่วง 4 เดือนเข้ามาดูลูกหนี้ 16-17 ล้านครั้ง คาดว่าสิ้นปีน่าจะถึง 60 ล้านครั้ง 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 39 ฉบับที่ 3,475 วันที่ 2 - 5 มิถุนายน พ.ศ. 2562