เปิดยุทธศาสตร์‘สปส.’ รับมือไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ

30 ม.ค. 2559 | 07:00 น.
ด้วยขนาดกองทุนที่ใหญ่ต้องบริการดูแลผู้ประกันตนตั้งแต่เกิดจนวาระสุดท้าย โดยมีฐานสมาชิกสมทบกว่า 13 ล้านคน (จำนวนนี้เป็นประกันภาคสมทบมาตรา 33 ถึง 10.39 ล้านคน) และเงินลงทุนสะสมถึง 1.39 ล้านล้านบาท

"ฐานเศรษฐกิจ" ถือโอกาสนี้สัมภาษณ์ นายโกวิท สัจจวิเศษ หลังจากที่นั่งเก้าอี้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ...ถึงยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาการประกันสังคมใน ปี2559

 6 ยุทธศาสตร์ ยกระดับบริการ-รื้อระบบIT

ทิศทางและยุทธศาสตร์ของสปส.ในปีนี้ ให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนางานด้านประกันสังคมสู่ความเป็นสากล เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และรับมือกับสถานการณ์ด้านโครงสร้างประชากรสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการเคลื่อนยายแรงงานและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์คือ

1. การยกระดับการให้บริการสู่สากล สนองความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียในทุกกลุ่ม เน้นด้านบริการ และการประชาสัมพันธ์ 2. พัฒนาสิทธิประโยชน์, ระบบเงินสมทบและการลงทุน 3. รื้อปรับและยกระดับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศไอที การบริหารสนเทศ โดยได้รับความร่วมมือจาก กสทโทรคมนาคม (cat) เข้ามาศึกษาเป็นระยะเวลา 90 วัน วางระบบเพื่อรองรับหน่วยงานที่ดูแลด้านประกันตนที่มีถึง 136 หน่วย สนับสนุนการให้บริการแบบ Self Service ซึ่งหากทำสำเร็จ สปส.จะมีระบบไอทีที่ทันสมัย

 ตั้งบอร์ดตรวจสอบโปรเจ็กต์

4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาบริหารทรัพยากรบุคคล สร้างภาวะผู้นำ การวางทิศทางระบบประกันสังคมให้สอดคล้องกับทิศทางของโลก 5. การพัฒนานำไปสู่องค์กรที่มีประสิทธิภาพ-โปร่งใส โดยสปส.ได้ตั้งหน่วยงานใหม่ชื่อ "คณะกรรมการตรวจสอบตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม" ซึ่งจะมีอำนาจและศักดิ์ศรี เทียบเท่ากับ บอร์ดประกันสังคม เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบโปรเจ็กต์-การทำงานของสปส.ว่าถูกต้องอยู่ในระเบียบข้อบังคับและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ โดยจะประชุมนัดแรกเพื่อสรรหาคณะกรรมการในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 และคาดประชุมนัดที่ 2 ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะสรรหาได้ครบ

6. ยุทธศาสตร์ว่าด้วยระบบประกันสังคมไทย ร่วมเป็นส่วนสำคัญของการวางรากฐานระบบประกันสังคมอาเซียน โดยพัฒนาความร่วมมือด้านประกันสังคม ทั้งการจ่ายสิทธิประโยชน์ การพัฒนาบุคลากร ตลอดจนยกระดับระบบประกันสังคมของประเทศในกลุ่ม CLMV เพื่อประโยชน์ในด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดย ณ เดือนธันวาคม 2558 มีจำนวนแรงงานต่างด้านที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมแล้วทั้งสิ้น 515,015 คน ประกอบด้วยแรงงานชาวเมียนมา 325,369 คน, กัมพูชา 88,911 คน, ลาว 12,269 คน, เวียดนาม 538 คน และอื่น ๆอีก 87,928 คน

 ปรับระบบการจ่ายสมทบ

ส่วนแผนรับมือในสถานการณ์ที่ไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ นายโกวิท กล่าวว่า การที่ประชากรไทยเข้าสู่วัยสูงอายุเพิ่มขึ้น กอปรกับการลดลงอย่างต่อเนื่องของประชากรวัยแรงงานที่มีอายุระหว่าง 15-59 ปี จากอัตราการเกิดที่ลดลง ขณะที่กองทุนชราภาพก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นโครงการจึงจำเป็นที่สปส. ต้องวางแนวทางเพื่อแก้ปัญหาของกองทุนชราภาพ และเพื่อสร้างเสถียรภาพของกองทุนให้ยืนยาว ผลการศึกษาของ ILO (เบื้องต้น ILO จะส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ให้สปส.ต้นเดือนก.พ. 59) ได้เสนอแนะให้สปส.ปรับเพิ่มอายุเกษียณ, ปรับค่าจ้างเฉลี่ยที่ใช้เป็นฐานการในคำนวณเงินบำนาญรายเดือน, ปรับอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพ, ปรับเพดานค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้คำนวณเงินสมทบ รวมทั้งกำหนดนโยบายการสะสมทุนและนโยบายการลงทุนให้ชัดเจน ซึ่งขณะนี้สปส.อยู่ระหว่างนำข้อเสนอแนะดังกล่าวมาพิจารณากำหนดแนวทางการปฏิรูประบบสังคม

ในเบื้องต้นเรื่องของเงินสมทบ คาดจะเริ่มปรับแก้ได้ก่อน เนื่องจากฐานเงินเดือนขั้นต่ำ-ขั้นสูงที่ 1,650 บาท ถึง 15,000 บาท สปส.ใช้มานานถึง 25 ปีค่าแรงขั้นต่ำขณะนั้นยังอยู่ที่ 111 บาท/วัน แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 300 บาท/วัน จึงเห็นควรให้เริ่มปรับจากฐานขั้นต่ำ 1,650 บาท เป็น 3,500-4,000 บาทก่อน และปรับฐานขั้นสูงจาก 15,000 บาทเป็น 20,000 บาท ส่วนอีกระบบหนึ่งที่ต้องศึกษาให้ได้ข้อสรุป ก็คือ "อัตราจัดเก็บ" จากปัจจุบันเก็บที่ 5% ซึ่งใช้มาตั้งแต่ก่อตั้ง ขณะที่เพื่อนบ้านเวลานี้ปรับเป็น 7%, 8% และ 10% แล้ว

"เรื่องการขยายฐานเงินสมบท ขณะนี้ได้ให้กองวิจัยฯและกรมที่เกี่ยวข้องไปดูแล ต้องมีคำตอบให้ภายในปีนี้ โดยการขยายฐาน หรือการเฉลี่ยเงินสมทบ (ในความคุ้มครอง 7 กรณี)ใหม่ ต้องแก้กฎกระทรวง ส่วนการปรับอัตราเงินสมทบ"ต้องแก้พ.ร.บ.ฯ ซึ่งในส่วนของปรับอัตราสมทบปีนี้ยังไม่ประกาศใช้ แต่จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้"

 รื้อสูตรคำนวณ "จ่ายเงินบำนาญ"

นอกจากนี้นโยบายของสปส.ยังมีนโยบายที่จะขยายอายุเกษียณจาก 55 ปีเป็น 60 ปี และเปลี่ยนสูตรคำนวณการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ มาเป็นการคำนวณตามค่าจ้างเฉลี่ยงเฉลี่ย 15-20 ปี ( 180-240 เดือน) หรือเฉลี่ยตามจำนวนเดือนที่จ่ายสมทบจริง แต่ต้องไม่น้อยกว่า 180 เดือน ยกตัวอย่างจากปัจจุบันที่คำนวณจาก "ร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือน" ก็ให้เป็น "ร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 180 เดือน" เป็นต้น

 แก้ระเบียบการลงทุนใหม่

ส่วนนโยบายการลงทุนในปี 2559 ยังยึดหลักบริหารกองทุนด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากตลาดตลาดการลงทุนยังมีความผันผวนสูง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและไทยยังมีความเปราะบาง พร้อมกับขยายช่องทางการลงทุน เพื่อเพิ่มผลตอบแทนและกระจายความเสี่ยง โดยสปส.อยู่ระหว่างแก้ไขระเบียบจัดหาผลประโยชน์เพื่อเพิ่มรูปแบบการลงทุน เช่นขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ, ลงทุนทางตรงในอสังหาริมทรัพย์ได้ หรือเปิดช่องให้สามารถลงทุนในโครงสร้างฟื้นฐาน "ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ ฟันด์" และการแก้ไขระเบียบเพื่อหามืออาชีพเข้าบริหาร

ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนสะสม 1.39 ล้านล้านบาท มีผลตอบแทนที่ได้รับรู้แล้ว 4.49 หมื่นล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,126 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2559