ยอดมนุษย์ไฟฟ้า บีซีพีจี ‘บัณฑิต สะเพียรชัย’

23 พ.ค. 2560 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ค. 2560 | 16:00 น.
888
บัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี ( BCPG ) ลูกหม้อบริษัท บางจากปิโตรเลียม ( BCP ) เขาเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการก่อเกิดบริษัท BCPG

ปี 2555 ระหว่างที่ บัณฑิต ดำรงตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานด้านธุรกิจพลังงานทดแทน BCP เขามีความคิดที่จะทำอะไรใหม่ ๆ ให้บางจาก เพราะหากทำแต่ธุรกิจน้ำมัน ซึ่งราคาสวิงขึ้น-ลง ตามตลาดโลก ถ้าไม่มีอะไรมาช่วยพยุงธุรกิจน้ำมันจะเหนื่อย ส่งผลกระทบต่อรายได้และกำไร หนึ่งในสินค้าที่จะทำมีเหมืองแร่โปรแตส แต่เนื่องจากธุรกิจนี้เป็นผลิตภัณฑ์การเมือง บัณฑิต จึงปิ๊งไอเดียการทำ โรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ( โซลาร์ฟาร์ม ) และได้เสนอความคิดนี้ให้คณะกรรมการบริษัทกระทั่งได้รับไฟเขียวให้ดำเนินการ จุดกำเนิดโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มแห่งแรกที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดอยุธยา ซึ่งถือเป็นโซลาร์ฟาร์มแห่งแรง ๆ ของประเทศไทย

หลังจากชิมลางโซลาร์ฟาร์มแห่งแรกแล้ว เป็นที่พอใจและติดใจของบอร์ดบางจากยุคนั้น ซึ่งมี “พิชัย ชุณหวชิร” เป็นประธานบอร์ด จึงเกิดโรงงานโซลาร์ฟาร์มเฟด 2 และ เฟด 3 ตามมา ด้วยกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 3 เฟส จำนวน 170 เมกะวัตต์ มีการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เรียบร้อยทุกโครงการแล้วจำนวน 118 เมกกะวัตต์

ความสำเร็จของโซลาร์ฟาร์มบางจาก เป็นก้าวย่างสำคัญที่ให้แยกธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงตั้งบริษัท บีซีพีจีฯ ( BCPG ) ขึ้นมาเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 ทรัพย์สินและกิจการทั้งหมดของโซลาร์ฟาร์ม โอนมาอยู่กับ BCPG ภายใต้การบริหารจัดการของ “บัณฑิต สะเพียรชัย” ที่ BCP ส่งมานั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ตั้งแต่บัดนั้นมา และหลังจากนั้นเพียง 1 ปี มนุษย์ไฟฟ้าผู้นำยังนำพาบริษัท BCPG เข้าระดมทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย

สำหรับ “บัณฑิต” การมาเป็นพี่ใหญ่ บริหาร BCPG มีเป้าหมาย ? การทำพลังงานบริสุทธิ์ของ BCPG ไม่ได้หยุดอยู่แค่โซลาร์ฟาร์ม 3 เฟสในประเทศไทยเท่านั้น เพราะหลังมีเงินจากการระดมทุนแล้ว มีเงินมากพอออกไปลงทุน

“บัณฑิต” ยังบอกด้วยว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนโซลาร์ฟาร์ม เริ่มถดถอย และการหาโซลาร์ในไทย ยากขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องออกไปหาโอกาสใหม่ ๆ ในต่างประเทศ ที่ให้ผลตอบแทนดี แต่ก็ไม่ทิ้งการลงทุนในไทยในลักษณะการทำธุรกิจร่วมไปเรื่อย ๆ และรอการจับสลากโซลาร์สหกรณ์ ที่ส่งสมัครเข้าไป 30 โครงการ เป้าหมายที่น่าจะได้ 20 เมกกะวัตต์ จากเครือข่ายและพันธมิตร

การออกไปหาโอกาสลงทุนต่างประเทศ แห่งแรกของ BCPG คือที่ประเทศญี่ปุ่น ขนาด 200 เมกกะวัตต์ ในยุคบุกเบิกที่ยังไม่มีผู้ประกอบการแห่ออกไป การทำอะไรก่อน มักได้เปรียบคู่แข่งเสมอ จึงทำให้บีซีพีจี ได้หน่วยการขายไฟฟ้าให้หน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่สูงตั้งแต่ 40 เยน ซึ่งปีนี้ โซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น COD ไปแล้ว 40 เมกกะวัตต์ อยู่ระหว่างก่อสร้าง 150 เมกกะวัตต์ สิ้นปี 2561 สามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ทั้งหมด

นโยบายการเป็นพลังงานสะอาด บริสุทธิ์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ได้จำกัดแค่โซลาร์ฟาร์มเท่านั้น BCPG จึงเข้าสู่โหมดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ที่ประเทศฟิลิปินส์ ในรูปแบบการลงทุนกิจการเจ้าถิ่น ขนาด 50 เมกกะวัตต์ ภายใต้บริษัท BCPG Wind Cooperatief U.A. ซึ่ง BCPG ถือหุ้น 40 % รับรู้รายได้ทันทีจากการ COD แล้ว 36 เมกกะวัตต์ และอยู่ระหว่างพัฒนา 14 เมกกะวัตต์

“บัณฑิต” ยังบอกเล่าอีกย่างก้าวที่ BCPG เดินไปก่อนใครเสมอคือ การไปซื้อหุ้น33 % ในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ที่ประเทศอินโดนีเซีย ที่ดำเนินการแล้ว ขนาด 182 เมกกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งโรงไฟฟ้าประเภทนี้ใช้เทคโนโลยีของบริษัทขุดเจาะน้ำมัน ทำให้มีผู้ประกอบการไม่มากนัก อีกทั้งการลงทุนจะสูงกว่าโซลาร์ฟาร์ม 2-3 เท่า แต่รายได้ที่กลับมาย่อมสูงกว่า 3-5 เท่าของโซลาร์ฟาร์ม

ยอดมนุษย์ไฟฟ้า ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ BCPG ไม่ใช่แค่ปลื้มปริ่มที่นำพาองค์กรสีเขียวแห่งนี้มาถึงเป้าหมายการไล่ล่าเป็นผู้ผลิตพลังงานสะอาด 1,000 เมกะวัตต์ เร็วกว่ากำหนดภายในปี 2561 นี้ ความภูมิใจที่มากกว่านี้ นาทีนี้ ของเขาน่าจะอยู่ที่ BCPG ได้รับเลือกเข้าไปคำนวณดัชนีระดับโลก MSCI ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนนี้ และเข้า SET 100 หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ถึง 8 เดือน นั่นเป็นความภูมิใจที่สุดของยอดมนุษย์ไฟฟ้าที่ชื่อ “บัณฑิต” แล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,263 วันที่ 21 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560