สำหรับประเทศไทยนอกจากเป็นประเทศผู้นำเข้าเหล็กแล้ว ยังมีการส่งออกสินค้าเหล็กด้วย โดยในปี 2567 ล่าสุด ไทยส่งออกเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์มูลค่า 6,635 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือในรูปเงินบาทที่ 233,054 ล้านบาท ในจำนวนนี้ส่งออกไปตลาดสหรัฐเป็นอันดับ 1 มูลค่า 1,205 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือในรูปเงินบาท 42,375 ล้านบาท ลดลง 18% เมื่อเทียบกับปีก่อน
นายบัณฑูรย์ จุ้ยเจริญ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การปรับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กของสหรัฐในครั้งนี้ มองว่ามีผลกระทบกับไทยไม่มากนัก เนื่องด้วยตั้งแต่สมัยช่วงโดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในสมัยแรก(20 ม.ค. 2560-20 ม.ค.2564) หรือช่วง “ทรัมป์ 1”สินค้าเหล็กของไทยถูกสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าที่ 25% ไปแล้ว การปรับขึ้นภาษีในครั้งนี้คงไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกลดลงมากนัก คงขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ และความต้องการใช้เหล็กของสหรัฐเป็นหลัก จากที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกเหล็กไปสหรัฐไม่เกิน 2 แสนตันต่อปี
“ผลกระทบทางตรงจากการปรับขึ้นภาษีสินค้าเหล็กของสหรัฐจากทั่วโลก 25% มองว่ามีไม่มาก แต่ที่เราห่วงคือผลกระทบทางอ้อมจากสินค้าเหล็กจีนที่ถูกสหรัฐขึ้นภาษีจะถูกส่งมาจำหน่ายในตลาดอาเซียน รวมถึงประเทศไทยที่เป็นตลาดนำเข้าเหล็กขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น จากเวลานี้อุตสาหกรรมเหล็กของไทยก็ค่อนข้างวิกฤตอยู่แล้ว จากสินค้าเหล็กนำเข้าจากจีน และจากประเทศอื่น เข้ามาจำหน่ายในราคาดัมพ์ตลาด ทำให้มีการใช้กำลังผลิตค่อนข้างตํ่า โดยปีที่แล้วผู้ประกอบการเหล็กในประเทศ ใช้กำลังผลิตเฉลี่ยเพียง 29% ของกำลังการผลิตโดยรวม”
สำหรับประเทศจีนมีกำลังผลิตเหล็กปีหนึ่งประมาณ 1,100 ล้านตัน ใช้เองในประเทศประมาณ 900 ล้านตัน เหลือกำลังการผลิตส่วนเกินประมาณ 200 ล้านตัน โดยปีที่แล้วจีนส่งออกเหล็กประมาณ 110 ล้านตัน ในส่วนของประเทศไทยปี 2567 มีความต้องการใช้เหล็กประมาณ 16.3 ล้านตัน ผลิตเองในประเทศ 6.3 ล้านตัน นำเข้า 11.4 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าจากจีนเป็นหลัก เกือบ 5 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 44% ของการนำเข้าเหล็กโดยรวมของไทย
ต่อคำถาม ในปี 2568 คาดไทยจะมีการนำเข้าเหล็กจากจีนรวมถึงจากประเทศอื่น ๆ ที่ถูกสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า 25% เพิ่มขึ้นหรือไม่ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กล่าวว่า ดูทิศทางแล้วยังตอบลำบาก ทั้งนี้การนำเข้าจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด ขึ้นกับการใช้มาตรการกำกับดูแลของภาครัฐ ผ่านมาตรการการตอบโต้การทุ่มตลาด(AD) และมาตรตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน(AC) ที่ผู้ค้ามีการพลิกแพลงสินค้า และเปลี่ยนพิกัดศุลกากรในการนำเข้า ว่าจะมีการกำกับดูแล และใช้ได้ผลมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ในส่วนของภาคเอกชนได้มีการประสานการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่น ๆ มาโดยตลอด
“สถานการณ์ปีนี้ เรายังห่วงจะมีโรงงานเหล็กไทยล้มหายตายจากอีก ซึ่งแต่ละบริษัทก็พยายามอดทนมาโดยตลอด ก็ยังหวังมาตรการของภาครัฐที่ออกมาจะช่วยได้ผล แต่ปัญหาคือขนาดของกำลังผลิตเหล็กส่วนเหลือของจีนมีมหาศาล 200 ล้านตันต่อปี ไทยใช้เหล็กทั้งประเทศก็แค่ 16 ล้านตัน แต่ 200 ล้านตันที่ว่าไม่ได้มาไทยประเทศเดียว ไปประเทศอื่นด้วย ซึ่งตรงนี้จะสร้างความกดดันในการแข่งขัน ในการตัดราคาในทั่วทุกพื้นที่ที่เขาส่งออกไป โดยเฉพาะอาเซียนที่เป็นตลาดใหญ่ และหลายประเทศก็พยายามหาทางป้องกัน”
ขณะเดียวกันการใช้กำลังการผลิตของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นได้มากน้อยเพียงใด นอกจากเหล็กนำเข้าจะเป็นปัจจัยสำคัญแล้ว อีกด้านหนึ่งเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ ภาคเอกชนอยากให้ภาครัฐให้การส่งเสริมสนับสนุนการใช้เหล็กในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมถึงในโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ในโครงการต่าง ๆ ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยได้