KEY
POINTS
ที่ผ่านมาภายใต้การทำงานของรัฐบาลนางสาวแพทองธารชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในหลายประเด็น ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือด่วนถึงการมอบหมายให้หน่วยงานและกระทรวงรับผิดชอบในการรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล
“กระทรวงคมนาคม” ได้มีนโยบายผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งทางบก ระบบขนส่งทางน้ำ ระบบขนส่งทางราง และระบบขนส่งทางอากาศ เพื่อลดต้นทุนระบบโลจิสติกส์ รวม 8 นโยบาย มูลค่ารวม 2.07 ล้านล้านบาท ดังนี้
สำหรับนโยบายแรกการผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) และนโยบายที่สอง การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพฯเพื่อรองรับนโยบายค่าโดยสารราคาเดียว ตลอดสายเพื่อลดภาระค่าเดินทางของประชาชนนั้น
ทั้งนี้ใน 2 นโยบายข้างต้นโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระทรวงฯยังคงเดินหน้าระบบตั๋วร่วม ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมหารือร่วมกับกระทรวงพลังงานเพื่อจัดตั้งกองทุนระบบตั๋วร่วม วงเงินประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาทต่อปี ระยะเวลา 2 ปี คาดว่าจะใช้งบประมาณจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน
อย่างไรก็ดีภาครัฐจำเป็นต้องจัดหางบประมาณเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ซึ่งตามแผนคาดว่าร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วม มีผลบังคับใช้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ และเริ่มใช้นโยบายดังกล่าวเป็นรูปธรรมภายในเดือนกันยายน 2568
ต่อมานโยบายที่สาม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ อย่างต่อเนื่อง ทั้งทางราง ทางน้ำ ทางถนน และทางอากาศอย่างไร้รอยต่อ นโยบายที่สี่ การส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยทางถนนและลดต้นทุนระบบโลจิสติกส์ พัฒนาระบบขนส่งควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain)
ขณะที่นโยบายที่ห้า การสร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงควบคู่กับพัฒนาเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)มีแผนพัฒนารถไฟทางคู่ระยะที่ 2 รวม 7 เส้นทาง วงเงิน 2.8 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ จำนวน 6 เส้นทาง ส่วนอีก 1 เส้นทาง อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการก่อสร้างแล้ว
ปัจจุบันรฟท.ได้เร่งรัดการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย - จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงินรวม 1.79 แสนล้านบาท รวมถึงการผลักดันไฮสปีดไทย - จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย วงเงิน 3.41 แสนล้านบาท
ล่าสุดครม.ได้มีมติเห็นชอบโครงการไฮสปีดไทยจีน ระยะที่ 2 แล้ว คาดว่าจะเปิดประกวดราคาหาผู้รับจ้าง หลังจากนั้นจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2568 และเปิดให้บริการในปี 2574
ส่วนนโยบายที่หก การยกระดับท่าเรือเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าเพื่อให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งของภูมิภาค ปัจจุบันกรมเจ้าท่า (จท.)ได้มีการปรับปรุงท่าเรือโดยสารอัจฉริยะในแม่น้ำเจ้าพระยา 29 แห่ง วงเงินกว่า 1,214 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างท่าเรือท่องเที่ยว (Cruise Terminal) อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี วงเงินลงทุน 6,415 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว
ด้านการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีแผนศึกษาพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย) บนพื้นที่ 2.3 พันไร่ วงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับสู่ท่าเรือท่องเที่ยว Cruise Terminal ตลอดจนการพัฒนาโครงการ Mixed-Use Building Complex ศูนย์การค้า หรือ ช้อปปิ้งมอลล์ รวมถึงโรงแรม ฯลฯ ในพื้นที่ ตามแผนจะใช้เวลาศึกษา 6 เดือน คาดว่าจะได้เห็นแผนพัฒนาฯเป็นรูปธรรมภายในปีนี้หรือต้นปี 2569
ต่อมานโยบายที่เจ็ด การพัฒนาและเส้นทางบินใหม่ๆ เช่น สนามบินล้านนา สนามบินอันดามัน เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) เพื่อประตูบานใหม่ (Gateway) รองรับความต้องการเดินทางที่เพิ่มขึ้น
ปัจจุบันบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมด้านการลงทุน ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ผลตอบแทนทางการเงิน และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอันดามัน จังหวัดพังงา วงเงิน 80,000 ล้านบาท และท่าอากาศยานล้านนา จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน วงเงิน 70,000 ล้านบาท คาดว่าภายในไตรมาส 3 ปี 2568 จะเสนอต่อครม.พิจารณา และเปิดประกวดราคาภายในไตรมาส 1 ปี 2570 หลังจากนั้นจะเริ่มก่อสร้างภายในไตรมาส 2 ปี 2570 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2575
ปิดท้ายกับนโยบายที่แปด การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือ (แลนด์บริดจ์) วงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะด้านการลงทุนเอกชน เพื่อให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งของภูมิภาค
ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างส่งรายละเอียดการจัดทำร่างพ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ พ.ศ…. หรือ พ.ร.บ.SEC เพื่อรอบรรจุวาระที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) พิจารณาภายในไตรมาส 1 ปีนี้ ก่อนเสนอไปยังที่ประชุมครม.เห็นชอบ และเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน กันยายน 2568 โดยจะเริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 วงเงินลงทุน 550,482.34 ล้านบาท และเปิดให้บริการปี 2573
อย่างไรก็ดีนโยบายของรัฐบาลนี้ตามแผนจะเสนอผลงาน 2 ปี ต่อครม.รับทราบภายในวันที่ 8 กันยายน 2569 หลังจากนั้นจะเผยแพร่ผลงานดังกล่าวทางเว็บไซต์รัฐบาลไทยในวันที่ 12 กันยายน 2569 ต่อไป
เมกะโปรเจ็กต์ หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,068 วันที่ 6 - 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568