ทะลวงงบ 1.2 หมื่นล้าน เวนคืนที่ดิน 1.9 พันแปลง สร้าง “ไฮสปีดไทย-จีน เฟส 2”

04 ก.พ. 2568 | 16:16 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.พ. 2568 | 16:20 น.

“คมนาคม” กางแผนสร้างไฮสปีดไทย-จีน เฟส 2 วงเงิน 3.4 แสนล้านบาท เตรียมเปิดประมูลงานโยธาภายในเดือนมิ.ย.นี้ ฟากรฟท.ของบผูกพัน 3 ปี 1.2 หมื่นล้านบาท ลุ้นปี 69 เวนคืนที่ดิน 1.9 พันแปลง

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ (4 ก.พ.2568) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค กรุงเทพ - หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร วงเงิน 341,351.42 ล้านบาท นั้น 

ขณะเดียวกันตามแผนรฟท.จะเร่งรัดจัดทำเอกสารประกวดราคา (TOR) และเปิดประมูลจัดหาเอกชนก่อสร้างงานโยธาภายในเดือนมิ.ย.นี้ โดยให้รัฐเป็นผู้ลงทุนด้านงานโยธาและเปิดประมูลเดินรถให้เอกชนในรูปแบบ PPP ซึ่งจะทำให้งบลงทุนลดลง 70,000 ล้านบาท คิดเป็น 23% ของวงเงินงบประมาณทั้งโครงการ  

“การเปิดประมูลโครงการไฮสปีดไทย-จีน จะกำหนดเป็นสัญญาใหญ่เพื่อให้การก่อสร้างได้ผู้รับเหมาที่มีคุณภาพ ไม่ให้แบ่งเป็นสัญญาย่อยๆ เพราะจะทำให้การเปิดให้บริการล่าช้าออกไป ตั้งเป้าหมายเปิดให้บริการปี 2574” นายสุริยะ กล่าว 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ส่วนสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ที่ทับซ้อนกับไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) นั้น คาดว่าจะเสนอต่อครม.เห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมกับเอกชนเพื่อเดินหน้าก่อสร้างในพื้นที่ทับซ้อนภายในเดือนเม.ย.นี้ 
 

ทั้งนี้กรอบวงเงินงบประมาณโครงการฯ มีรายละเอียดขอบเขตของงานก่อสร้างโครงการฯ ตามที่ที่ปรึกษาได้ออกแบบรายละเอียดและประมาณราคาค่าก่อสร้าง ประกอบด้วย ค่างานก่อสร้างโยธารถไฟความเร็วสูง 235,129 ล้านบาทและค่างานก่อสร้างงานโยธาศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา  2,325 ล้านบาท 

หากโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บผู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางราง จังหวัดหนองคาย ได้ดำเนินโครงการฯ ในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐแล้วเสร็จ ค่างานศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทาจะตัดออกไปในภายหลัง 

อย่างไรก็ดีได้ให้ รฟท. มีอำนาจในการปรับปรุงรายละเอียดด้านงบประมาณ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน ค่าควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา ค่าบริหารโครงการและควบคุมงานติดตั้งงานระบบรถไฟ ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ ค่าก่อสร้างงานโยธา ค่าติดตั้งงานระบบรางระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และจัดหาขบวนรถไฟ และรายละเอียดอื่น ๆ ที่สำคัญ ภายได้กรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติให้ดำเนินการโครงการฯ และดำเนินการจัดจ้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ส่วนการเวนคืนที่ดินนั้น หลังครม.เห็นชอบตามแผนไฮสปีดไทย-จีน เฟส 2 แล้วตามกระบวนการคาดว่าจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนเริ่มเริ่มดำเนินการเวนคืนที่ดินภายในปี 2569  วงเงิน 12,418 ล้านบาท  
 

ทั้งนี้การของบประมาณในการเวนคืนที่ดินไฮสปีดไทย-จีน เฟส 2 โดยแบ่งการเบิกจ่ายงบประมาณผูกพัน 3 ปี ดังนี้ งบปี 2569 วงเงิน 3,973 ล้านบาท งบปี 2570 วงเงิน 4,967 ล้านบาท งบปี 2571 วงเงิน 3,477 ล้านบาท พบว่ามีพื้นที่ที่ถูกเวนคืน ช่วงนครราชสีมา - บ้านไผ่ จำนวน 195 แปลงและช่วงบ้านไผ่ - หนองคาย จำนวน 1,764 แปลง 

นอกจากนี้ในปัจจุบัน รฟท.ยังอยู่ระหว่างจัดทำ TOR เพื่อศึกษารูปแบบเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (PPP) ในการบริหารโครงการและเดินรถไฮสปีดไทย - จีน ตลอดแนวเส้นทางช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาราว 6 เดือนแล้วเสร็จภายในปีนี้ ก่อนจะนำผลการศึกษาความเหมาะสมและรูปแบบ PPP เสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบเพื่อเปิด PPP จัดหาเอกชนร่วมลงทุนต่อไป  

สำหรับแนวเส้นทางไฮสปีด ไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย เฟส 2 ตลอดระยะทาง 356 กิโลเมตร (กม.) นั้น แบ่งการก่อสร้างเป็น ทางรถไฟระดับพื้นดิน 185 กิโลเมตร (กม.) และทางรถไฟยกระดับ 171 กิโลเมตร (กม.) มีทั้งสิ้น 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่, สถานีบ้านไผ่, สถานีขอนแก่น, สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย 

อย่างไรก็ตามจะมีสถานีขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง บริเวณสถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย รวมทั้งจะมีการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงที่เชียงรากน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และสถานีนาทา จ.หนองคาย โดยไฮสปีด ไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ(เฟส) ที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย มีเส้นทางครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา, จ.ขอนแก่น, จ.อุดรธานี และจ.หนองคาย