“มนพร” โหม 6 บิ๊กโปรเจ็กต์คมนาคม ดันไทยขึ้นแท่นฮับขนส่งอาเซียน

03 ก.พ. 2568 | 20:17 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.พ. 2568 | 21:16 น.

“มนพร” เดินหน้าเข็น 6 บิ๊กโปรเจ็กต์คมนาคม ดันพัฒนาท่าเรือสำราญ-แลนด์บริดจ์ หนุนมูลค่าเศรษฐกิจพุ่ง 8 เท่า เข็นแผนสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง เฟส 3 คาดนักท่องเที่ยวเข้าไทย 240 ล้านคน ในปี 75

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา Dinner Talk : Go Thailand 2025 Women Run the World พลังหญิงเปลี่ยนโลก จัดโดยฐานเศรษฐกิจว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร มีรัฐมนตรีหญิงถึง 8 คน โดยนายกรัฐมนตรีได้เปิดโอกาสและมอบหมายให้สตรีเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบาย และขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งรัฐมนตรีหญิงทุกคนสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้เป็นอย่างดี และเป็นที่ยอมรับในสายตาของประชาชน

“จากการมอบหมายหน้าที่นี้แสดงให้เห็นว่า บทบาทของสตรีไทยในอนาคตจะเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใดก็ตาม สตรีไทยก็สามารถขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าในทุกมิติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างประโยชน์โดยรวมต่อประเทศชาติและประชาชน” นางมนพร กล่าว

สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินการโครงการที่สำคัญของกระทรวงคมนาคม ภายใต้รัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในวิสัยทัศน์ที่ว่า Mega Project Mega Power พลิกโฉมโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมเพื่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ท่านนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธารชินวัตร ได้แถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยรัฐบาลมีนโยบายในการเดินหน้าการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ (Mega Project) เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดการดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสและพลิกโฉมให้กับประเทศไทยผ่านการลงทุนทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ อย่างเป็นระบบ

นางมนพร กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้ใช้ข้อได้เปรียบของตำแหน่งที่ตั้งที่ประเทศไทยอยู่ตรงกลางของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการที่ประเทศไทยตั้งอยู่ตรงกลางของภูมิภาคอาเซียน ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการเดินทางของคน และเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้า

“หากเราทำการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมได้ จะทำให้ประชาชนทั่วโลกที่เดินทางมาในภูมิภาคอาเซียนจะเดินทางมาประเทศไทยก่อน แล้วต่อเครื่องบินเพื่อเดินทางไปยังประเทศจุดหมายปลายทาง หรือสินค้าต่าง ๆ ที่จะขนส่งมายังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคก็ต้องขนส่งมาที่ประเทศไทยก่อนที่จะกระจายต่อไปยังประเทศต่าง ๆ โดยรอบ ผ่านระบบโครงข่ายคมนาคมที่ดีของไทยเรา” นางมนพร กล่าว

ขณะที่รายได้ส่วนใหญ่ของประเทศไทยในปัจจุบันมาจากภาคการท่องเที่ยว จากสถิติที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทยถึง 35.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 26% เทียบกับปีที่แล้ว และนำรายได้เข้าประเทศกว่า 1.67 ล้านล้านบาท สร้างการจ้างงานกว่า 7 ล้านคน หรือ 20% ของการจ้างงานทั้งหมด

สำหรับในปีนี้ ปี 2568 ประเทศไทยครองตำแหน่ง Destination of the Year 2025 โดยได้รับตำแหน่งติดต่อกันมาแล้ว 10 ปี ประเทศไทยจึงถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากมาเยือน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ภาคการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและอนาคต 

อย่างไรก็ตามกระทรวงคมนาคมได้มุ่งหน้าขับเคลื่อนโครงข่ายคมนาคมเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะ การท่องเที่ยวโดยเรือสำราญขนาดใหญ่ ประเทศไทยเองมีตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์บนเส้นทางการท่องเที่ยวทางทะเลระหว่างประเทศที่สำคัญ 

“มนพร” โหม 6 บิ๊กโปรเจ็กต์คมนาคม ดันไทยขึ้นแท่นฮับขนส่งอาเซียน

นายมนพร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยกลับไม่มีท่าเทียบเรือในการรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่โดยเฉพาะโดยต้องแบ่งใช้พื้นที่บางส่วนในท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือเกาะสมุย และท่าเรือภูเก็ต ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวไม่ได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางกระทรวงคมนาคม ได้มีแผนการก่อสร้างท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ซึ่งครอบคลุมทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน จำนวน 3 แห่ง ได้แก่

1. ท่าเรือสำราญบริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา 2. ท่าเรือสำราญภูเก็ต และ 3. ท่าเรือสำราญเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยหลังจากที่ท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ทั้ง 3 แห่งเปิดให้บริการจะส่งผลให้มีจำนวนเรือสำราญขนาดใหญ่แวะเข้าเทียบท่ามากขึ้น สร้างเม็ดเงินและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากเดิมไม่น้อยกว่า 7 - 8 เท่า
 

 นอกจากนี้ยังมีโครงการที่สำคัญที่เป็นโครงการเรือธงของรัฐบาลนี้ คือ การพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ในจังหวัดชุมพรและระนอง ที่เชื่อมต่อระบบราง เพื่อให้เป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเลเส้นทางใหม่ของโลก ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 15% - 20% และลดระยะเวลาในการขนส่งทางทะเลได้ประมาณ 4 - 5 วัน โครงการแลนด์บริดจ์จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลแห่งใหม่ของภูมิภาคและของโลก

ส่วนการพัฒนาระบบขนส่งทางอากาศนั้น จากข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่า ในปี 2575 จะมีนักท่องเที่ยวและผู้โดยสาร เดินทางมายังประเทศไทยทางเครื่องบินถึง 240 ล้านคน 

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมจึงมีแผนพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติหลักให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากดังกล่าว ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 3 โดยจะทำการขยายอาคารผู้โดยสารหลักปัจจุบันด้านทิศตะวันออก 

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ด้านทิศใต้ และทางวิ่งเส้นที่ 4 เพิ่มเติม ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการพัฒนา วงเงินลงทุน 170,000 ล้านบาท ส่วนท่าอากาศยานดอนเมืองนั้น ปัจจุบันทอท. ได้กำหนดแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศแห่งใหม่และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารในประเทศหลังเดิม วงเงินลงทุน 36,830 ล้านบาท

นางมนพร กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมได้วางแผนพัฒนาระบบคมนาคม และให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เป็นเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำและศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศ
 
อย่างไรก็ตามเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่จะสร้างโอกาสให้กับประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างการเติบโตและความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างโอกาสให้กับนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างประเทศ สร้างบรรยากาศที่สนับสนุนการลงทุนที่ดี สร้างโอกาสให้กับประชาชน สร้างการจ้างงาน สร้างรายได้ให้คนไทย ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น