“มนพร เจริญศรี” กับความท้าทายสู่แผนขับเคลื่อนสารพัดบิ๊กโปรเจ็กต์ “คมนาคม”

31 ม.ค. 2568 | 09:51 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2568 | 09:56 น.

เจาะแผนการทำงาน “มนพร เจริญศรี” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดภารกิจท้าทายดูแล 6 หน่วยงาน ดันสารพัดบิ๊กโปรเจ็กต์ ชงสภาฯไฟเขียว

KEY

POINTS

  • เจาะแผนการทำงาน “มนพร เจริญศรี” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
  • เปิดภารกิจท้าทายดูแล 6 หน่วยงาน ดันสารพัดบิ๊กโปรเจ็กต์ ชงสภาฯไฟเขียว

“กระทรวงคมนาคม” ถือเป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่าแสนล้านบาท ในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทั้ง 4 มิติ ทั้งการขนส่งทางบก การขนส่งทางน้ำ การขนส่งทางราง และการขนส่งทางอากาศ ตลอดจนการยกระดับระบบโลจิสติกส์ เชื่อมต่อการเดินทางระบบขนส่งอย่างไร้รอยต่อ

นั่งเก้าอี้รมช.คมนาคม

ล่าสุดในยุครัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้มอบหมายให้นางมนพร เจริญศรี ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเข้ามาสานต่อภารกิจในกระทรวงคมนาคม ในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆได้สำเร็จตามนโยบายของรัฐบาลที่วางไว้

โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นกัปตันเรือธงที่สำคัญในการส่งเสริมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ

รับภารกิจสานต่อ 6 หน่วยงาน

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การวางเป้าหมายการทำงานนั้นภายในกระทรวงคมนาคมมีการกำกับดูแลหน่วยงานต่างๆ จำนวน 22 หน่วยงาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจตลอดจนบริษัทจำกัด
 

 ทั้งนี้ได้รับมอบหมายการทำงานจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ดูแล 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมท่าอากาศยาน (ทย.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) กรมเจ้าท่า (จท.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และบริษัท โรงแรม ท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ จำกัด

 จากการได้รับมอบหมายให้ดูแลหน่วยงานต่างๆตั้งแต่รัฐบาลยุคนายเศรษฐา ทวีสิน สู่รัฐบาลยุคนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปัจจุบันได้รับมอบหมายให้ดูแลเพิ่มเติม จำนวน 2 หน่วยงาน คือ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ซึ่งทุกหน่วยงานที่กำกับดูแลได้ทำงานตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎร


ดันร่างกฎหมายเข้าสภาฯ

นางมนพร กล่าวต่อว่า ความท้าทายในการทำงานเริ่มต้นจากได้ทำงานฝ่ายนิติบัญญัติมาตลอด แต่อำนาจหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นงานเชิงบริหาร จากการเป็นส.ส.เขต ที่มีหน้าที่ต้องเข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพราะเป็นงานที่มีส่วนร่วมในการผลักดันร่างกฎหมายต่างๆที่สำคัญของกระทรวงคมนาคมเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

“เชื่อมั่นว่าภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในระยะเวลาที่เหลือจะสามารถบรรลุเป้าหมายไปสู่ความสำเร็จที่วางไว้”
 
 

นอกจากนี้ความใส่ใจและความทุ่มเทในบริบทการทำงานที่มาจากต่างพรรคการเมือง ซึ่งเป็นรัฐบาลผสม แต่โชคดีที่กระทรวงคมนาคมมีเป้าหมายในการทำงาน โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีความเข้าใจในการมองบริบทและมิติการพัฒนาทั้ง 4 ด้าน ที่มีความชัดเจน จนนำไปสู่เป้าหมายความสำเร็จในโครงการสำคัญๆของกระทรวงคมนาคม

“มนพร เจริญศรี” กับความท้าทายสู่แผนขับเคลื่อนสารพัดบิ๊กโปรเจ็กต์ “คมนาคม”

เข็นสารพัดบิ๊กโปรเจ็กต์
 ส่วนนโยบายที่นำไปสู่การปฏิบัติยังได้รับการร่วมมือจากข้าราขการทุกภาคส่วน เช่น กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ฯลฯ ทำให้โครงการต่างๆสามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่สะดุด
 
อย่างไรก็ตามกระทรวงคมนาคมยังคงเร่งรัดโครงการต่างๆที่สำคัญ เช่น นโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือ แลนด์บริดจ์

โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นโครงสร้างพื้นฐาน โดยกระทรวงคมนาคมมีมิติในการพัฒนาทั้ง 4 มิติ ประกอบด้วย การขนส่งทางถนน การขนส่งทางน้ำ การขนส่งทางราง และการขนส่งทางอากาศ ที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้

เมกะโปรเจ็กต์หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,067 วันที่ 2 - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568