“มนพร” ดัน 6 สนามบินใหม่ ขึ้นแท่นฮับขนส่งทางอากาศในภูมิภาค

28 ต.ค. 2567 | 08:00 น.
2.1 k

“มนพร” สั่งทย.ปลุก 6 สนามบินใหม่ หวังครอบคลุมทุกภูมิภาค ดันไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาค คาด20 ปีข้างหน้า ปริมาณผู้โดยสารทั่วโลกเดินทางทางอากาศเพิ่มขึ้น 2 เท่า

นางมนพร  เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยว่า กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้รายงานการเข้าร่วมประชุมระดับผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 59 (59th DGCA Conference) ณ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานด้านการบินพลเรือนได้มีโอกาสพบปะ 

นอกจากนี้ได้หารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสาขาต่าง ๆ ของการบินพลเรือนที่สำคัญและอยู่ในความสนใจ ภายใต้แนวคิด “Shaping the Future of Air Transport: Sustainable, Resilient, and Inclusive” การสร้างอนาคตการขนส่งทางอากาศ : ยั่งยืน ยืดหยุ่น และครอบคลุม

ทั้งนี้ที่ประชุมฯ ได้กล่าวถึงการพัฒนาเศรษฐกิจการขนส่งทางอากาศ ที่คาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ปริมาณผู้โดยสารจากทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ซึ่งต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 

ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความหลากหลายและการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานในท่าอากาศยาน รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการขนส่งทางอากาศสำหรับผู้พิการและส่งเสริมการเท่าเทียมในการเดินทาง

ทั้งนี้ยังให้ความสำคัญกับโครงการ “Net Zero Roadmap Decarbonise Your Airport” หรือแผนงานเพื่อมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนภายในท่าอากาศยานเป็นศูนย์
 

นางมนพร กล่าวต่อว่า จากการประชุมดังกล่าวได้มีแนวคิดเกี่ยวกับอนาคตของการขนส่งทางอากาศ การคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางอากาศ และการอำนวยความสะดวกของผู้เดินทาง 

ขณะเดียวกันได้สนับสนุนให้ ทย. พิจารณาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานท่าอากาศยานอย่างยั่งยืนและครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค เพื่อเตรียมการรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ทั้งโครงการเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยาน และโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานใหม่ ทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานมุกดาหาร บึงกาฬ สตูล พะเยา กาฬสินธุ์ และพัทลุง 

“เน้นย้ำแนวคิดเรื่องความปลอดภัย ด้วยการออกแบบท่าอากาศยานให้มีความปลอดภัยอย่างเหมาะสม และการนำอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยที่ทันสมัยมาใช้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองด้านความปลอดภัย รวมถึงการออกแบบท่าอากาศยานตามหลักอารยสถาปัตย์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก” นางมนพร กล่าว

ขณะที่การเข้าถึงบริการสำหรับผู้พิการและส่งเสริมความเท่าเทียมในการเดินทาง และในส่วนของเป้าหมายด้านการบินและสิ่งแวดล้อม ได้สนับสนุนให้ ทย. พัฒนาแผนงานต่อยอดหลังจากที่ได้รับรางวัล EIA Monitoring Awards 2024 เพื่อมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และการรับรองคาร์บอนของสนามบินระดับ 5 (ACA)

นายดนัย เรืองสอน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 18 ตุลาคม 2567 ณ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ มี 48 ประเทศ/รัฐ เข้าร่วมการประชุม โดยประเทศไทยได้ส่งผู้แทนจากหน่วยงานทั้งราชการและรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย

สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม ทย. สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย  บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 

นอกจากนี้ยังมีองค์การด้านการบินระหว่างประเทศ เช่น องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) สมาคมผู้ประกอบการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) สภาสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (ACI) องค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) และองค์การบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (FAA) 

นายดนัย กล่าวต่อว่า ทย. จะเร่งดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันมีท่าอากาศยานที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะก่อสร้างในอนาคต ได้แก่ ท่าอากาศยานมุกดาหารและท่าอากาศยานบึงกาฬ อยู่ในขั้นตอนออกแบบและจัดทำ EIA ท่าอากาศยานสตูล อยู่ในขั้นตอนหาผู้รับจ้าง (ที่ปรึกษา) ในการออกแบบและจัดทำ EIA 

ส่วนท่าอากาศยานพะเยา อยู่ในขั้นตอนได้รับงบประมาณเพื่อออกแบบและจัดทำ EIA ในปี 2568 ขณะที่ท่าอากาศยานกาฬสินธุ์และท่าอากาศยานพัทลุง ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานแล้วเสร็จ

ด้านการให้ความสำคัญกับประเด็นความหลากหลาย ทย. ได้สนับสนุนสิทธิและโอกาสเท่าเทียมทุกกลุ่ม การใช้ความหลากหลายของช่วงอายุมาเป็นประสบการณ์ในการทำงาน 

อย่างไรก็ตามการที่ ทย. มีบุคลากรที่ปฏิบัติงานตามพื้นที่ต่าง ๆ ครอบคลุมทุกภูมิภาคในประเทศไทย ทำให้มีการเปิดรับมุมมอง ความเชื่อทางศาสนา และค่านิยมที่แตกต่าง เพื่อบูรณาการให้องค์กรมีความเข้มแข็ง

นอกจากนี้ควบคู่ไปกับการนำผลการประชุมมาวางแผนพัฒนาท่าอากาศยาน และแนวทางการปฏิบัติต่าง ๆ พร้อมสำหรับการยกระดับท่าอากาศยานในสังกัดสู่การเป็นหน่วยงานที่ได้มาตรฐานสากล