“มนพร เจริญศรี” กับความท้าทายเก้าอี้รัฐมนตรีหญิง “คมนาคม”

11 ธ.ค. 2567 | 06:30 น.

เปิดบทสัมภาษณ์ “มนพร เจริญศรี” นักการเมืองหญิงคนแรกของจังหวัดนครพนม ผู้มีบทบาททางการเมืองกว่า 30 ปี สู่เส้นทางความท้าทายเก้าอี้รัฐมนตรีหญิง “คมนาคม” ผ่านรัฐบาลเศรษฐา-แพทองธาร

KEY

POINTS

  • เปิดบทสัมภาษณ์ “มนพร เจริญศรี” นักการเมืองหญิงคนแรกของจังหวัดนครพนม
  • ผู้มีบทบาททางการเมืองกว่า 30 ปี สู่เส้นทางความท้าทายเก้าอี้รัฐมนตรีหญิง “คมนาคม” ผ่านรัฐบาลเศรษฐา-แพทองธาร 

หากกล่าวถึง “ ดร.มนพร เจริญศรี” หรือ สส.เดือน ส.ส.เขต 2 พรรคเพื่อไทย ถือเป็นนักการเมืองหญิงคนแรกของ จังหวัด นครพนมที่มีบทบาท ผลงานทางการเมือง รวมถึงกระแสความนิยมท่วมท้นบนเส้นทางการเมืองนานกว่า 30 ปี เป็นทั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม คนแรก  สส.หญิงคนแรก

ล่าสุดยังได้รับตำแหน่ง รัฐมนตรีหญิงคนแรก ของ จังหวัดนครพนม โดยมีพี่น้อง 2 คน สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจาก โรงเรียนนครพนมวิทยาคม 

ต่อมาได้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ และระดับอนุปริญญา วิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซา ระดับปริญญาโท ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง

จนล่าสุดคว้าตำแหน่งดอกเตอร์สู่ระดับปริญญาเอก ศิลปศาสตร์ดุษฏีบัญฑิต สาขาสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก

ดร.มนพร เล่าย้อน ถึงเส้นทางการเติบโต สู่เก้าอี้รัฐมนตรี ว่า ได้เติบโตมาจากการเมืองท้องถิ่น เริ่มต้นจากการลงเลือกตั้ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม โดยชนะการเลือกตั้งในเขตอำเภอเมือง และดำรงตำแหน่งเป็น รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม

ภายหลังได้ชนะการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปี 2547 ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในสนามการเมืองท้องถิ่น
 

จากนั้นได้เข้าสู่สนามการเมืองระดับประเทศ เมื่อปี 2554 ซึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนมเป็นครั้งแรก ในสังกัดพรรคเพื่อไทย และในปี 2557 ที่มีการเลือกตั้ง ปรากฏว่า การเลือกตั้งในสมัยนั้นเป็นโมฆะ 

ต่อมาการเลือกตั้งในปี 2562 และปี 2566 ได้เป็นส.ส. จำนวน 3 สมัย และเป็นเลขานุการวิปพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร 1 สมัย

หลังจากที่พรรคเพื่อไทยกลับมาและได้รับชัยชนะในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จนได้รับความไว้วางใจจากพรรคเพื่อไทยให้มาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้มีโอกาสทำงานร่วมกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมด้วย

จากการทำงานของดร.มนพร  ทำให้เห็นถึงความสามารถและการทำงานที่ประสบความสำเร็จในหลายๆด้านจนได้รับความไว้วางใจตั้งแต่ยุครัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีและยุคนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเข้ามาสานต่อภารกิจในกระทรวงคมนาคม ในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆได้สำเร็จตามนโยบายของรัฐบาลที่วางไว้ 

ขณะที่การวางเป้าหมายการทำงานนั้น “ดร.มนพร” กล่าวว่า ภายในกระทรวงคมนาคมมีการกำกับดูแลหน่วยงานต่างๆ จำนวน 22 หน่วยงาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจตลอดจนบริษัทจำกัด 
 

ทั้งนี้ได้รับมอบหมายการทำงานจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ดูแล 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมท่าอากาศยาน (ทย.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) กรมเจ้าท่า (จท.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และบริษัท โรงแรม ท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ จำกัด 

จากการได้รับมอบหมายให้ดูแลหน่วยงานต่างๆตั้งแต่รัฐบาลยุคนายเศรษฐา ทวีสิน สู่รัฐบาลยุคนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปัจจุบันได้รับมอบหมายให้ดูแลเพิ่มเติม จำนวน 2 หน่วยงาน คือ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ซึ่งทุกหน่วยงานที่กำกับดูแลได้ทำงานตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและนโยบายที่แถลงไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎร

ขณะความท้าทายในการทำงาน ดร.มนพร อธิบายว่า เริ่มต้นจากได้ทำงานฝ่ายนิติบัญญัติมาตลอด แต่อำนาจหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นงานเชิงบริหาร

จากการเป็นส.ส.เขต ที่มีหน้าที่ต้องเข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพราะเป็นงานที่มีส่วนร่วมในการผลักดันร่างกฎหมายต่างๆที่สำคัญของกระทรวงคมนาคมเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร                
    
“วันนี้จะทำอย่างไรให้นโยบายของนายกรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภานำไปสู่ความสำเร็จและสร้างความอยู่ดีกินดีให้แก่ประชาชน สิ่งหนึ่งที่อยากเห็น คือ การให้ประชาชนพ้นจากความยากจน ไม่มีหนี้ครัวเรือนและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนการได้รับโอกาสทางศึกษาที่มีคุณภาพให้แก่ลูกหลาน เชื่อมั่นว่าภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในระยะเวลาที่เหลือจะสามารถบรรลุเป้าหมายไปสู่ความสำเร็จที่วางไว้”