ปักธงปี 68“บขส.” เล็งเปิดประมูลรอบ 3 ดันพื้นที่เชิงพาณิชย์ 5.1 พันล้าน

17 ม.ค. 2568 | 05:09 น.

“บขส.” ไม่ท้อ เดินหน้าเปิดประมูล รอบ 3 ปลุกพื้นที่เชิงพาณิชย์ 3 แปลง มูลค่า 5.1 พันล้านบาท ภายในเดือนม.ค.-ก.พ.68 ลุ้นกรมโยธาฯ ปรับสีผังเมือง-ย้ายสถานีขนส่งเอกมัย คาดใช้เวลา 1-2 ปี ได้ข้อสรุป

KEY

POINTS

  • “บขส.” ไม่ท้อ เดินหน้าเปิดประมูล รอบ 3 ปลุกพื้นที่เชิงพาณิชย์ 3 แปลง มูลค่า 5.1 พันล้านบาท ภายในเดือนม.ค.-ก.พ.68
  • ลุ้นกรมโยธาฯ ปรับสีผังเมือง-ย้ายสถานีขนส่งเอกมัย คาดใช้เวลา 1-2 ปี ได้ข้อสรุป  

ปัจจุบัน บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ “บขส.” มีที่ดินที่มีศักยภาพ 4 แปลง ซึ่งมีแผนให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนโดยการเช่าเพื่อหารายได้เข้าองค์กรเพิ่มขึ้นนอกจากการให้บริการเดินรถทัวร์เพียงอย่างเดียว 
 
นายอรรถวิท รักจำรูญ กรรมการฯ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับการให้เอกชนลงทุนพัฒนาที่ดินในกรรมสิทธิ์ของ บขส. ซึ่งมีการศึกษาที่จะนำที่ดิน จำนวน 3 แปลง ที่มีศักยภาพและสามารถนำมาพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดรายได้ และกำไรให้บริษัทได้ ประกอบด้วย 1. พื้นที่บริเวณแยกไฟฉาย 2. พื้นที่ย่านชลบุรี 3. พื้นที่บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ปิ่นเกล้า) นั้น
 
ที่ผ่านมาบขส.ได้เปิดประมูลให้เอกชนเช่าพื้นที่ทั้ง 3 แปลง รอบที่ 2 เมื่อช่วงกลางปี 2567 พบว่า ยังไม่มีเอกชนรายใดให้ความสนใจเข้าร่วมการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้ง 3 แปลง ทำให้บขส.อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาจัดทำรายละเอียดด้านราคาที่เหมาะสมและพื้นที่ให้เช่า

นอกจากนี้รวมถึงการประเมินถึงสาเหตุที่ไม่มีเอกชนรายใดให้ความสนใจร่วมประมูลทั้ง 3 แปลง เพื่อเตรียมประกาศประกวดราคา รอบที่ 3 ต่อไป คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จพร้อมเปิดประมูลได้ทั้ง 3 แปลงภายในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2568
 

ขณะเดียวกันหลังจากเปิดประมูลแล้ว คาดว่าจะได้เอกชนผู้ชนะการประมูลภายในปี 2568 ซึ่งเอกชนผู้ชนะการประมูลจะต้องชำระค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่ของบขส. ตามอัตราที่กำหนด โดยมีสัญญาสัมปทาน 30 ปี

 ส่วนการปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประมูลรอบ 3 นั้น โดยบขส.ยืนยันว่าการเปิดประมูลในรอบ 3 ให้สิทธิเอกชนรายเดียวสามารถยื่นประมูลที่ดินทั้ง 3 แปลงได้ หากเอกชนรายใดสามารถให้ประโยชน์แก่บขส.ได้สูงสุดจะเป็นผู้ชนะ
 
นายอรรถวิท กล่าวต่อวว่า ขณะที่พื้นที่บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (เอกมัย) นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอกรมโยธาธิการและผังเมืองปรับสีผังเมืองใหม่ เพื่อให้พื้นที่เอกมัยสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ หลังจากนั้นบขส.จะทำเรื่องดำเนินการย้ายสถานีดังกล่าว คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1-2 ปี
 

นอกจากนี้พื้นที่บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (เอกมัย)  ยังเป็นสถานีขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งจะต้องดำเนินการยกเลิกสถานีขนส่งออกจากพื้นที่ก่อน โดยบขส.จะดำเนินการจัดหาพื้นที่สถานีใหม่ทดแทนสถานีเอกมัยที่ถูกยกเลิกไป คาดว่าพื้นที่ที่มีความเหมาะสมคือ ย่านบางนา
 
สำหรับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของบขส. ทั้งหมด 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.พื้นที่บริเวณแยกไฟฉาย พื้นที่ 3 ไร่ 3 งาน 94 ตารางวา มูลค่า 428 ล้านบาท ราคาประเมินที่ดิน 98.09 ล้านบาท ทำเลที่ตั้งติดถนนจรัญสนิทวงศ์ และรถไฟฟ้า MRT ผังใช้ประโยชน์สีน้ำตาลและสีแดง 2.พื้นที่ย่านชลบุรี จังหวัดชลบุรี พื้นที่ 5 ไร่ 1 งาน 11 ตารางวา มูลค่า 113 ล้านบาท ราคาประเมินที่ดิน 151.805 ล้านบาท ติดถนนสุขุมวิท

 3.พื้นที่บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ปิ่นเกล้า) พื้นที่ 15 ไร่ มูลค่า 4,600 ล้านบาท ราคาประเมินที่ดิน 398.79 ล้านบาท ติดถนนบรมราชชนนี ปัจจุบันใช้ด้านหน้าเป็นจุดจอดรถตู้โดยสาร ผังการใช้ประโยชน์สีส้ม สามารถพัฒนาได้หลายประเภท และ 4.สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (เอกมัย) พื้นที่ 7 ไร่ 3 งาน 15 ตารางวา มูลค่า 2,500 ล้านบาท ราคาประเมิน 1,012.37 ล้านบาท ติดถนนสุขุมวิท รถไฟฟ้า BTS ผังสีน้ำเงิน

ปักธงปี 68“บขส.” เล็งเปิดประมูลรอบ 3 ดันพื้นที่เชิงพาณิชย์ 5.1 พันล้าน
 
อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยเปิดให้เอกชนลงทุนเช่าพื้นที่ ระยะเวลาสูงสุด 30 ปี เบื้องต้นบขส.ประเมินว่า ตามกฎหมาย บขส.จะได้รับค่าตอบแทนค่าเช่ารายปี และค่าธรรมเนียม ในพื้นที่ 3 แห่ง รวมประมาณ 1,094 ล้านบาท แบ่งเป็น

พื้นที่แยกไฟฉาย 190 ล้านบาท ,พื้นที่ย่านชลบุรี 364 ล้านบาท ,พื้นที่ย่านปิ่นเกล้า 540 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนที่ดินพื้นที่ย่านเอกมัย อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาและประเมินราคาที่ดิน

เมกะโปรเจ็กต์ หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,063 วันที่ 19 - 22 มกราคม พ.ศ. 2568