นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงกรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ในเฟสล่าสุด ว่า ควรมองโครงการนี้ในบริบทที่กว้างขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การให้เงินกลุ่มประชาชนอายุ 16-20 ปี จำนวน 2.7 ล้านคน ซึ่งหลายฝ่ายตั้งคำถามว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมหรือไม่
นายจักรภพ กล่าวว่า ดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ว่าจะเป็น เฟส 1, เฟส 2 หรือ เฟส 3 เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วยทั้งหมด 46 โครงการ โดยโครงการดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นนโยบายที่ประชาชนเฝ้ารอ
อย่างไรก็ตาม ใน 46 โครงการนี้สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. การลงทุนภาคเอกชน ซึ่งรัฐบาลจะต้องอัดฉีดเงินบางส่วนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน 2. ค่าใช้จ่ายภาครัฐ ที่เน้นไปที่โครงการโครงสร้างพื้นฐาน และ 3. การส่งเสริมภาคเศรษฐกิจเฉพาะด้าน เช่น การท่องเที่ยว
ทั้งนี้ แผนดำเนินการของรัฐบาลคาดว่าจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงกลางปีงบประมาณ 2568 หรือระหว่างไตรมาสที่ 2-3 (มกราคม - มิถุนายน 2568) และจะส่งแรงกระเพื่อมต่อเนื่องไปยังไตรมาสสุดท้าย ก่อนเข้าสู่ปีงบประมาณ 2569 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2568
นายจักรภพ กล่าวย้ำว่า ดิจิทัลวอลเล็ตเฟสล่าสุดไม่ได้ดำเนินการอย่างโดดเดี่ยว แต่จะเดินหน้าควบคู่ไปกับโครงการพัฒนาเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น โครงการรถไฟรางคู่ภาคใต้ และโครงการก่อสร้างคลังสินค้า เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใต้ เหนือ และชายฝั่งทะเล
รวมถึงโครงการพัฒนาความร่วมมือระดับภูมิภาคตัวอย่าง เช่น ในภาคอีสาน รัฐบาลมีแผนพัฒนา “โครงการมิตรภาพไทย-ลาว” ที่จะสร้างสะพานเชื่อมต่อ หนองคาย-เวียงจันทน์ แห่งที่สอง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการค้าและโลจิสติกส์
หรือในภาคใต้ ก็มีโครงการ “สะพานข้ามทะเลน้อย” จังหวัดพัทลุง ที่จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเชื่อมต่อโครงข่ายเศรษฐกิจของภูมิภาค
นายจักรภพ ย้ำว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต เป็นเพียง “จุดประกาย” ให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ซึ่งต่อจากนั้นโครงการที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งจากภาครัฐและเอกชน จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลักดันการพัฒนาอย่างแท้จริง
“การพัฒนาเศรษฐกิจไม่ใช่เพียงแค่การกระตุ้นระยะสั้น แต่ต้องมองในมุมของการสร้างรากฐานเพื่อการเติบโตระยะยาว ซึ่งรัฐบาลมีแผนดำเนินการอย่างเป็นระบบภายใต้ 46 โครงการสำคัญ” นายจักรภพ กล่าว
อดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า นอกจากโครงการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยมีการวางแผนประชุมภายใต้กรอบ “บิมสเทค” (BIMSTEC) ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ท่ามกลางสถานการณ์ที่มหาอำนาจบางประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ มีท่าทีห่างเหินมากขึ้น
นายจักรภพ ยังแสดงความเสียดายที่อดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศ ในการประชุมระดับภูมิภาคครั้งล่าสุด โดยมองว่า การเข้าร่วมของ ดร.ทักษิณ อาจส่งผลดีต่อโอกาสทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีแนวทางอื่นในการสานต่อความร่วมมือ อาทิ การประชุมทางไกล หรือการดำเนินนโยบายผ่านกลไกของอาเซียน
สำหรับการประชุมอาเซียนในระดับรัฐมนตรีและผู้นำประเทศนั้น นายจักรภพ ชี้ว่า ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในกระบวนการถ่ายโอนภาระหน้าที่ให้กับประเทศเจ้าภาพถัดไป ซึ่งในการประชุมครั้งต่อไป หากเมียนมาไม่สามารถรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพได้ อาจต้องส่งต่อให้ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีนัยสำคัญต่อยุทธศาสตร์ของไทยและภูมิภาค