การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่กดทับการเติบโตของเศรษฐกิจไทย จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ล่าสุดพบว่าการปล่อยกู้ภาคเอกชน ณ สิ้นปี 2567 หดตัวครั้งแรกในรอบ 21 ปี นับตั้งแต่ปี 2546 ตามการลดลงของเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์และการชะลอลงของเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ขณะที่ ณ ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องในระบบมหาศาล แต่ระมัดระวังในการปล่อยกู้โดยพิจารณาจากระดับความเสี่ยง และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้เป็นสำคัญ
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปัจจุบันแม้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พยายามหามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ภายใต้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน อย่างหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending: RL) เพื่อเข้มงวดในการกำกับสถาบันการเงินให้ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งก่อนและหลังการเป็นหนี้เสีย แต่มาตรการ RL ก็นำมาซึ่งความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อไปในตัวด้วย
ขณะที่มาตรการสนับสนุนการรีไฟแนนซ์และการรวมหนี้เป็นก้อนเดียว (Debt Consolidation) หรือ มาตรการมัดรวมหนี้พบปัญหาว่า การมัดรวมหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน(Unsecure) ก้อนเล็กมาดึงหนี้ก้อนใหญ่ ทำให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ต้องกันสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น(ECL) ทั้งการโอนลูกหนี้รายย่อยภายในสถาบันการเงิน และการโอนหนี้รวมกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ภายนอก
ในทางปฏิบัติมาตรการมัดรวมหนี้นั้น เมื่อสถาบันการเงินเจ้าหนี้ทำมาตรการดังกล่าวช่วยลูกหนี้ไปแล้วพบว่า เป็นการดึงให้ทุกพอร์ตสินเชื่อตกชั้นหรือเป็นลูกหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) คือ สถาบันการเงินเจ้าหนี้ต้องมีภาระในการสำรองเพิ่มจากพอร์ ตUnsecure ส่งผลให้สถาบันการเงินต้องกันสำรอง ECL สูงขึ้น
แหล่งข่าวกล่าวว่า ถามว่าทำไมสถาบันการเงินบางแห่งสามารถทำมาตรการรวมหนี้เป็นก้อนเดียวได้ ต้องไปดูไส้ในว่า สถาบันการเงินนั้นโฟกัสลูกค้ากลุ่มไหน หากโฟกัสลูกหนี้ระดับบน ซึ่งอาจจะมีปัญหากระตุกเล็กน้อยไม่มาก โอกาสประสบความสำเร็จก็เป็นไปได้ แต่ต้องกลับมาดูหลักเกณฑ์ที่ธปท.ต้องการให้ช่วยลูกค้ากลุ่มระดับล่างที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน
“ส่วนตัวมองว่า หากจะเดินหน้ามาตรการมัดรวมหนี้ให้สำเร็จ ทางธปท.อาจจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องกันสำรอง ECL ด้วย”
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อในปี 2567 หดตัว -0.4% ถือเป็นการติดลบสูงสุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 และเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากปี 2566 ที่สินเชื่อหดตัว -0.3% โดยสินเชื่อที่หายไป และหดตัว ส่วนหนึ่งมาจากธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ จากเครดิตผู้กู้ และความต้องการสินเชื่อของธุรกิจที่ไม่ได้ลงทุน แต่ภายหลังจากที่ ธปท.วางโครงสร้างพื้นฐาน เช่น Open Data หรือการค้ำประกันรูปแบบใหม่ น่าจะช่วยเรื่องสินเชื่อได้ โดยคาดว่า “มาตรการคุณสู้ เราช่วย” จะทำให้หนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยปรับดีขึ้นในรอบไตรมาสถัดไป
ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 2567 ปรับลดลงทั้งปริมาณ และสัดส่วน โดยปริมาณหนี้เสียอยู่ที่ 5.50 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.78% ลดลงจากไตรมาสที่ 3/2567 ซึ่งอยู่ที่ 5.3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.97% หรือเป็นหนี้เสียที่ปรับลดลงราว 2 หมื่นล้านบาท โดย NPL ที่ลดลงส่วนใหญ่ จะมาจากการปลดการจัดชั้นหนี้เสียของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อเอสเอ็มอี และรายย่อย ที่เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ผ่านมาตรการการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ที่ลูกค้าสามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข และถูกขยับชั้นจาก Stage 3 เป็นสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Stage 2) เพิ่มขึ้นมาอยู่ 6.98% โดยปัจจุบัน ตัวเลขปรับโครงสร้างหนี้สะสมอยู่ที่ 7.18 ล้านบัญชี และคิดเป็นมูลหนี้อยู่ที่ 2.66 ล้านล้านบาท
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีที่ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย โดย กนง.ได้พิจารณา ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนี้ เนื่องจากจะช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการและประชาชน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่
ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับภาวะกำลังซื้อที่อ่อนแรง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยปีที่แล้วเงินเฟ้อเฉลี่ยเพียง 0.5% แสดงให้เห็นว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องกังวลมากนักในขณะนี้ ในทางตรงกันข้ามการที่เศรษฐกิจยังคงซบเซาและกำลังซื้อไม่ขยายตัว อาจเป็นสัญญาณว่าจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม และการลดดอกเบี้ยนโยบายก็ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถช่วยให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้
สำหรับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยให้ต้นทุนทางการเงินลดลง เพิ่มโอกาสในการลงทุน ขยายกิจการ และบริหารกระแสเงินสดได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม นอกจากการลดดอกเบี้ยแล้ว ภาคเอกชนยังต้องการเห็น มาตรการเสริมที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เพราะปัจจุบัน แม้ต้นทุนทางการเงินจะเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อก็เป็นอุปสรรคที่ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากไม่สามารถใช้ประโยชน์จากต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำได้อย่างเต็มที่
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขอสนับสนุนนายกรัฐมนตรี ที่ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาทบทวนการลดดอกเบี้ยให้กับประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อช่วยในการลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูง จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน ส่งผลเชิงบวกต่อการเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งทางตรงและทางอ้อม สร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเพิ่มจีดีพีไทย ทั้งในด้านการค้า การลงทุนและการบริโภค
“การลดอัตราดอกเบี้ย ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม เพราะการผลักภาระดอกเบี้ยที่สูงให้เอสเอ็มอี เป็นต้นตอของภาระหนี้ที่ไม่เป็นธรรม โดยพิจารณาจากโครงสร้างหนี้ครัวเรือนจะพบปัญหาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมีเพียง 34% เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่มีสัดส่วนสูงมากในหนี้ครัวเรือน
ขณะที่ประเทศไทยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถูกผลักไปรับอัตราดอกเบี้ยสูง อาทิ สินเชื่อส่วนบุคคล สูงถึง 19% บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด 8% ซึ่งสินเชื่อเพื่อธุรกิจที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่ากลับมีสัดส่วนเพียง 18% ของหนี้ครัวเรือน ส่วนการสำรวจความต้องการของเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ต้องการสินเชื่อแหล่งทุนเพิ่มเติมเพื่อการเพิ่มสภาพคล่อง 82% ใช้หนี้เดิม 10% และเพื่อการลงทุนปรับปรุงกิจการเพิ่มเติม 8%”
นายแสงชัย กล่าวอีกว่า อยากให้รัฐบาลนำ “SME Wallet” ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุนและทำให้รายย่อยมี digital footprint ทางการเงิน “ส่งเสริม Credit scoring ทั้งทางด้านการเงินและที่ไม่ใช่ทางด้านการเงิน” อาทิ การพัฒนาองค์ความรู้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การเข้าถึงมาตรฐานสินค้า บริการที่สำคัญ การใช้ประโยชน์ดิจิทัลเทคโนโลยี AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน สร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ การใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าและเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ เป็นต้น
“ต้องขยายผลการนำระบบ ”Business Development Services“ (BDS) ในวงกว้างให้เกิดการสร้างความตระหนักรู้ เข้าถึงเอสเอ็มอีทุกกลุ่มในการมี SME One ID และเข้าสู่กลไกพัฒนาตามความต้องการผู้ประกอบการที่แท้จริงเป็น ”แต้มต่อให้คนตัวเล็ก“ ยกระดับขีดความสามารถอย่างต่อเนื่องและนำไปสู่การแข่งขันที่สร้างความยั่งยืน ดอกเบี้ยที่เป็นธรรมเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการลดภาระหนี้สิน แต่การยกระดับกลไกการเพิ่มขีดความสามารถเอสเอ็มอีและภาคแรงงานของภาครัฐต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนจริงจังต่อเนื่องควบคู่กันไปด้วย”
นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า ภาพรวมเอสเอ็มอีท่องเที่ยว ในส่วนของโรงแรมแม้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่โรงแรมขนาดกลางและเล็กในเมืองรอง หรือ โรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์ยังไม่ได้รับอานิสงส์การท่องเที่ยว สิ่งสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คือ ควรมีมาตรการที่จะทำให้เกิดการปล่อยกู้ธุรกิจเอสเอ็มอีได้จริง เพราะปัญหาที่ผ่านมาสถาบันการเงินไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ ซึ่งรัฐบาลควรมีการกำหนดเงื่อนไขในการสนับสนุนการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำของสถาบันการเงิน หรือรัฐช่วยค้ำประกัน ให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งควรออกมาตรการด้านภาษี เพื่อกระตุ้นการลงทุน เช่น การปรับปรุงโรงแรม อาจจะให้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เป็นต้น เพราะการลดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ก็ไม่ได้ช่วยมากนัก เพราะลดแค่ 25 สตางค์ ถือว่าน้อยมาก
ขณะที่นายสุภัค หมื่นนิกร ผู้ก่อตั้งสถาบันธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีซี่ อินเตอร์เนชั่นแนล แฟรนไชส์ จำกัด กล่าวว่า แนวทางที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การส่งเสริมภาคการเกษตร ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่ม 2. พัฒนาเอสเอ็มอีแบบครบวงจรอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เช่น โครงการอบรม โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือโครงการสนับสนุนการตลาด แต่ไม่เคยมีแนวทางพัฒนาแบบครบวงจรที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน 3. สร้างแบรนด์ไทยให้แข็งแกร่งในตลาดโลก เพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันกับแบรนด์ต่างชาติได้