นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีข้อเสนอแนวทางการปรับลดค่าไฟฟ้าของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน โดย กกพ.เสนอให้ทบทวนต่อสัญญาโรงไฟฟ้าจะลดได้อีกหน่วยละ 17 สตางค์ ขณะที่กระทรวงพลังงาน เห็นว่า ไม่สามารถทำได้ จะถูกเอกชนฟ้อง โดยอยู่ระหว่างหาแนวทางอื่น โดยเฉพาะแนวทางการปรับปรุงระบบพูล ก๊าซว่า
เอกชนเห็นด้วยกับแนวทางของกกพ.ที่เสนอแนวทางการปรับลดราคาค่าไฟอีกหน่วยละ 17 สตางค์ เหลือหน่วยละ 3.98 บาท ตรงกับหนึ่งในข้อเสนอของส.อ.ท.ในการลดค่าไฟได้อย่างรวดเร็วที่ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้
“เวลานี้ไม่ต้องการให้โฟกัสเรื่องที่ว่า แนวทางโน้นทำไม่ได้ แนวทางนี้ทำไม่ได้ แต่ต้องการให้โฟกัสในเรื่องต้องหาแนวทางไหนที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงมาเหลือหน่วยละ 3.70 บาทตามที่ได้พูดกันก่อนหน้านี้ให้ได้โดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันกับทางภาคเอกชน ซึ่งเอกชนเห็นด้วยกับแนวทางของกกพ. ที่เสนอให้ทบทวนเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการต่อสัญญาให้อุดหนุนส่วนต่างต้นทุน (Adder) และมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Fit) จากผู้ผลิตเพิ่มเติม โดยต้องให้ภาคนโยบายสั่งการมา เพื่อลดค่าไฟได้อีกหน่วยละ 17 สตางค์”
อย่างไรก็ดี ส.อ.ท. ขอเสนอแนวทางการปรับลดค่าไฟฟ้าเพิ่มเติม ให้โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (ประเภทไม่มีเชื้อเพลิง ) แม้จะหมดสัญญาแล้ว ยังสามารถผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้ต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศต้องการมากกว่าพลังงานฟอสซิล และอาจดีกว่าให้ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่เพิ่มเติม
ส่วนโรงไฟฟ้าที่คืนทุนไปแล้ว ควรทบทวนราคาใหม่ โดยให้พิจารณาราคาตามต้นทุนที่แท้จริง เช่น ค่าซ่อมแซม ค่าบำรุงรักษา แต่ต้องไม่เกินจากราคาโรงไฟฟ้าพลังงานผันแปรใหม่ในปัจจุบัน
ด้านโรงไฟฟ้าที่ยังไม่หมดสัญญา ขอให้ทบทวนราคาค่าไฟฟ้า ที่ไม่มีแอดเดอร์ มาเป็นราคาตามโรงไฟฟ้าใหม่ในปัจจุบัน แทนราคาขายส่ง ตามสัญญาเดิมที่สูงกว่า โดยภาครัฐอาจยืดระยะเวลาของสัญญา เป็นการชดเชย
นอกจากนี้ ภาครัฐควรใช้หลักการเดียวกันในการลดต้นทุนค่าไฟ โดยการเจรจากับโรงงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) เพื่อปรับลดค่าพร้อมจ่าย (AP) ซึ่งต้นทุนแฝงอยู่ในค่าไฟฟ้าค่อนข้างสูง ทั้งที่ไม่ได้เดินโรงงาน โดยภาครัฐ อาจจะชดเชยด้วยการขยายระยะเวลาสัญญาให้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันควรลดต้นทุนจากค่าก๊าซธรรมชาติ เช่น ค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคืนทุนไปแล้ว ก็ควรพิจารณาปรับราคาลงมาให้เหมาะสม โดยเชื่อว่าหากภาคนโยบายพิจารณาสั่งการมาทั้งหมด ค่าไฟจะลงมาได้ต่ำกว่าหน่วยละ 3.70 บาทในปีนี้ทันที
ล่าสุดนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้เรียกเลขาธิการกกพ. และตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการลดค่าไฟ รวมทั้งกรณีที่กกพ. เสนอให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ทบทวนเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ซึ่งได้รับการต่อสัญญาและให้ได้รับการอุดหนุนส่วนต่างต้นทุน (แอดเดอร์) รวมทั้งมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน(เอฟไอที) จากผู้ผลิตไฟฟ้า เพื่อให้ค่าไฟสามารถปรับลดลงได้อีก 17 สตางค์ โดยที่ประชุมสรุปว่า ไม่สามารถทำได้ตามแนวทางที่ กกพ.เสนอ เนื่องจากเป็นเรื่องของข้อผูกพันทางสัญญาไม่ใช่เรื่องระเบียบ กกพ.
และได้ให้ทาง กกพ. พิจารณาและทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อไม่ได้เกิดความสับสนในเรื่องดังกล่าว และย้ำอีกว่า ขณะนี้ทางรัฐบาลกำลังพิจารณาหาแนวทางที่จะปรับลดค่าไฟงวดต่อไปอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะแนวทางการปรับปรุงระบบพูล ก๊าซ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน