ร่างกม. "สถานบันเทิงครบวงจร" ล่าสุด คนไทยเข้ากาสิโน ต้องมีเงิน 50 ล้าน

18 ก.พ. 2568 | 11:36 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.พ. 2568 | 11:46 น.
1.0 k

"เลขาฯกฤษฎีกา ชี้แจงหลังรับฟังความเห็น 'ร่างพ.ร.บ. Entertainment Complex' ล่าสุด พร้อมวางมาตรการป้องกันคนไทยหมกมุ่นการพนัน-ตั้งเพดานต้องมีเงิน 50 ล้านบาท ถึงจะเข้าเล่นกาสิโนได้

วันนี้ (18 กุมภาพันธ์) นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex ว่า ขณะนี้การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในวาระที่ 2 เมื่อร่างกฎหมายที่เสร็จไปในเบื้องต้นมีการพิจารณาในหลักการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

 

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา


นอกจากนี้ยังได้นำไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยทั่วไปมาประกอบการพิจารณาในวาระที่ 2 ต่อไป ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังเร่งจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าว และจะดำเนินการได้ทันภายในกรอบ 50 วันที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ 

สำหรับร่างของคณะกรรมการกฤษฎีกามีสาระสำคัญคือ การป้องกันอบายมุข ซึ่งแตกต่างจากร่างเดิม รายละเอียดทั้งหมดจะอยู่ในการพิจารณาวาระที่ 2 โดยสาระสำคัญจะอยู่ในวาระแรกที่ดูในหลักการก่อนว่าจะต้องเติมเต็มในด้านใดบ้าง ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

 

การจัดทำร่างขณะนี้กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นเจ้าของร่าง และอำนาจซูเปอร์บอร์ดยังคงหลักการเดิม แต่จะมีการใส่รายละเอียดใหม่ในกระบวนการต่างๆ เช่น ใบอนุญาตต้องดำเนินการอย่างไร และจะต้องมีแผนการลงทุนต่างๆ 

ส่วนที่มีข้อเสนอให้คนไทยมีเงิน 50 ล้านบาทจึงจะสามารถเข้าใช้บริการได้นั้น ปกรณ์ยอมรับว่าเป็นแนวคิดเบื้องต้น ซึ่งประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่ขณะนี้ยังเป็นตัวเลขเบื้องต้นเท่านั้น และไม่อยากให้ประชาชนไปหมกมุ่นอยู่กับเรื่องแบบนี้ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้เอาเรื่องการพนันเป็นหลัก แต่เน้นแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นหลัก 

 

“ส่วนตัวคิดว่าถ้าใส่เรื่องนี้แน่นๆ ก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้คนไทยมาเล่นการพนันซึ่งเป็นสิ่งมอมเมาต่างๆ เหล่านี้ได้ แต่ก็เข้าใจว่านโยบายของรัฐบาลหลักๆ ก็คือแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ได้เน้นการพนัน” เลขาฯ กฤษฎีกา ระบุ 

 

ขณะที่การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามหลักการแล้วจะมีอยู่ 2 เรื่องที่คล้ายกันอยู่คือ รับฟังความคิดเห็นกับเรื่องประชามติ โดยการรับฟังความคิดเห็นจะนำไปประกอบการพิจารณาของฝ่ายนโยบาย เมื่อรับฟังความคิดเห็นแล้วจะดำเนินการต่อไปอย่างไร แตกต่างจากประชามติที่จะเป็นไปในลักษณะที่ว่าถ้ามีความคิดเห็นอย่างไรก็ตกลงตามนั้น 

 

“ดังนั้นต้องแยกกันให้ออก อย่านำไปปนกัน เพราะขณะนี้สังคมนำไปปนกันหมดแล้ว ทั้งเรื่องรับฟังความคิดเห็นและเรื่องประชามติ เป็นเรื่องที่แตกต่างกัน ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยและรัฐบาลยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการต่อ ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลและรัฐสภาที่จะพิจารณาตามรายละเอียดว่าจะแก้ไขตามที่เห็นสมควรอย่างไร” นายปกรณ์ระบุ