กระทรวงอุตฯปั้นวิสาหกิจชุมชนขึ้น Soft Power ดันเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่

18 ก.พ. 2568 | 07:29 น.

กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าปั้นวิสาหกิจชุมชนขึ้นแท่น Soft Power ดันเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ เกิดการใช้จ่ายในชุมชน หลังติดตามการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการจังหวัดสุราษฎร์ธานี

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการติดตามการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี 2 แห่ง ประกอบด้วย 

1.กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมจักสานกระจูดบ้านห้วยลึก ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ผู้ประกอบการผลิตสินค้าหัตถกรรมจักสานจากต้นกระจูดด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นสินค้า OTOP ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับคัดสรรเป็นสินค้าหัตถกรรมคุณภาพ 

และได้รับมาตรฐานสินค้า OTOP ระดับประเทศ มีผลิตภัณฑ์ เช่น เสื่อ ตะกร้า กระเป๋าจากกระจูด ซึ่งปัจจุบันกลุ่มฯ ได้พัฒนารูปแบบของสินค้าหัตถกรรมให้มีความหลากหลาย ทันสมัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามสมัยนิยม เช่น กระเป๋าเดินทางแบบมีล้อ กระเป๋าแฟชั่นแบบตัดเย็บ กระเป๋าเอกสาร หมอน แฟ้มเอกสาร ปกเมนูร้านอาหาร กล่องบรรจุภัณฑ์ แผ่นรองจาน เป็นต้น 

กระทรวงอุตสาหกรรมโดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 (ศภ.10) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเข้ามาให้การสนับสนุน ด้านการจัดหลักสูตรฝึกอบรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และการนำเครื่องรีดเส้นกระจูดไปประยุกต์ใช้กับกิจการ รวมถึงการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของพื้นที่แหล่งวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบจากคุณภาพน้ำ พร้อมทั้งส่งเสริมการปลูกพืชกระจูด เพื่อเพิ่มปริมาณวัตถุดิบ รวมถึงสร้างเครือข่ายแหล่งวัตถุดิบในการรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น 

กระทรวงอุตฯปั้นวิสาหกิจชุมชนขึ้น Soft Power ดันเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่

2.บริษัท ซีพีแรม จำกัด (สุราษฎร์ธานี) ตั้งอยู่ที่ ต.เขาหัวควาย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ผู้ดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทาน และเบเกอรี่อบสด ที่มีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเป็นของตนเอง โดยผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย 2 กลุ่ม ได้แก่ 

กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน แช่เยือกแข็งและแช่เย็น ผ่านกรรมวิธีเพื่อคงคุณภาพความสดใหม่และคุณค่าทางอาหาร โดยส่งออกและจำหน่ายในประเทศ 

กลุ่มผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ที่ผ่านการควบคุม ตั้งแต่การวิจัยพัฒนาคัดสรรสูตร และคัดเลือกส่วนผสม มีกรรมวิธีการผลิตที่ควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในการยกระดับสถานประกอบการจนได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทการเพิ่มผลผลิต ประจำปี พ.ศ. 2567 และได้รับการสนับสนุนจากสถาบันอาหาร (สอห.) ในการพัฒนามาตรฐานโรงคัดบรรจุผักที่ได้มาตรฐาน อย. 

ในส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สนับสนุนเรื่องการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกากอุตสาหกรรม และเข้าร่วมกิจกรรมการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคนิคการบริหารจัดการโลจิสติกส์ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) 

“พื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ วิสาหกิจชุมชนที่มีการผลิตสินค้าท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสมัยนิยมเป็นที่สนใจของคนไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งสามารถผลักดันให้เป็น Soft Power ได้ จนถึงผู้ประกอบการโรงงานก็เป็นส่วนสำคัญที่ใช้วัตถุดิบการผลิตจากในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้งยังเกิดการจ้างงาน และการหมุนเวียนการใช้จ่ายในชุมชนรอบโรงงาน”