“สุริยะ” สั่ง รฟม.ถกเอกชน แก้สัมปทาน รับ "รถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย"

13 ก.พ. 2568 | 15:02 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.พ. 2568 | 15:31 น.

“สุริยะ” สั่งรฟม.ถกเอกชน แก้สัญญาสัมปทานร่วมทุน PPP หลังเดินหน้ารถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ดันยอดผู้โดยสาร-รายได้พุ่งต่อเนื่อง หวังแบ่งรายได้เพิ่มคืนรัฐ ฟากรฟม.ยันเบรกต่อสัมปทานเอกชน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น เบื้องต้นยืนยันว่าสามารถให้บริการรถไฟฟ้าทุกเส้นทางในราคาเดียวภายในเดือนก.ยนี้ โดยกระทรวงเห็นว่าจากนโยบายนี้พบว่า ปริมาณผู้โดยสาร และรายได้ของรถไฟฟ้าแต่ละสายเพิ่มสูงขึ้นจากก่อนดำเนินมาตรการฯ อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้มีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้น รวมถึงทำให้เอกชนผู้รับสัมปทานแต่ละสายมีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกันทั้งนี้ควรมีการเจรจาแก้ไขร่างสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนผู้รับสัมปทานแต่ละเส้นทาง เพื่อแบ่งผลประโยชน์รายได้บางส่วนให้แก่รัฐด้วย

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาจากการดำเนินมาตรการลดผลกระทบฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งเปิดให้ประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้าฟรี พบว่า ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นประมาณ 50% หากเก็บค่าโดยสารสูงสูดไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย คาดว่าผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นจากปกติไม่น้อยกว่า 30%

อย่างไรก็ตามกระทรวงคมนาคมต้องเจรจากับผู้ประกอบการ เพื่อแก้ไขสัญญาฯ ให้แบ่งผลประโยชน์ที่เอกชนจะได้รับให้คืนมายังภาครัฐบาลบ้าง อย่างไรก็ตามได้เร่งรัดให้ รฟม. เร่งเจรจา โดยจะต้องแก้ไขสัญญาให้แล้วเสร็จก่อนที่จะเริ่มดำเนินมาตรการฯ กับรถไฟฟ้าทุกสายแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.68

ส่วนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ขณะนี้กรมขนส่งทางราง (ขร.) ได้จัดทําข้อกําหนดทางธุรกิจ (Business Rule) เช่น เงื่อนไขการเดินทาง การคิด อัตราค่าโดยสาร การจัดแบ่งและชดเชยรายได้ และแหล่งเงินชดเชย เป็นต้น ระยะต่อไป ทาง รฟม.จะเข้าเจรจากับภาคเอกชนที่ได้รับสัมปทาน เพื่อแก้ไขสัญญาสัมปทานต่อไป หลังจากนั้นจะเสนอคณะกรรมการ รฟม. พิจารณา และภายในเดือนส.ค.68 จะเสนอเข้า ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบ

ทั้งนี้จากนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ในปัจจุบันได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 1 ปี 2 เดือนในโครงการรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน

นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า เบื้องต้นสัญญาฯ ที่ รฟม. ลงนามร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีชมพู และสายสีเหลืองต้องแก้ไขอัตราค่าโดยสารเป็นสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย จากเดิมที่มีการกำหนดอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น และปรับขึ้นทุก 5 ปี

ขณะเดียวกันต้องแก้ไขทบทวนส่วนแบ่งรายได้ใหม่ อาทิ สายสีน้ำเงิน ปัจจุบันตามสัญญาเอกชนต้องแบ่งรายได้ให้กับ รฟม. ประมาณ 15% ส่วนจะต้องแบ่งรายได้ให้ รฟม. เพิ่มขึ้นเท่าใดนั้น ต้องพิจารณาข้อมูล และรายละเอียดต่างๆ ก่อน โดย รฟม. จะเร่งดำเนินการให้ได้ข้อสรุปเร็วที่สุด และทันก่อนใช้มาตรการฯ กับรถไฟฟ้าทุกสาย

ทั้งนี้ในปัจจุบัน รฟม. ได้รับส่วนแบ่งรายได้จากสายสีน้ำเงินเท่านั้น ส่วนสายสีชมพู และสายสีเหลือง ยังไม่ได้รับ เนื่องจากตามสัญญาฯ การแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้ รฟม. จะต้องมีปริมาณผู้โดยสารถึงเป้าหมายตามที่กำหนดในสัญญาด้วย นอกจากนี้รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง เพิ่งเปิดให้บริการ และมีปริมาณผู้โดยสารยังไม่มากนัก

อย่างไรก็ตามการแก้ไขสัญญาฯ จะไม่มีการเปลี่ยนรูปแบบการร่วมลงทุน ยังคงให้เป็น PPP Net Cost ที่ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า เพราะหากเปลี่ยนจะต้องรื้อใหม่ทั้งระบบ เป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการขยายสัญญาสัมปทานให้กับเอกชน

ทั้งนี้จากผลการดำเนินนโยบาย พบว่า ได้ผลตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี สะท้อนได้จากข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาที่มีสถิติการมีผู้ใช้บริการสูงที่สุด (นิวไฮ) ตั้งแต่เปิดให้บริการ สำหรับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น ยืนยันว่า จะประกาศใช้ในโครงการรถไฟฟ้าทุกสี ทุกสาย และทุกเส้นทางภายในเดือนกันยายน 2568 ตามที่เคยกำหนดไว้ ภายใต้การขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ผ่านการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม


ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการ โดยคาดว่า จะประกาศราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปี 2568 และเสนอประกาศกฎหมายลำดับรองภายในเดือนกันยายน 2568 อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า เมื่อนโยบายนี้ ครอบคลุมในทุกเส้นทาง จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างแน่นอน

“สุริยะ” สั่ง รฟม.ถกเอกชน แก้สัมปทาน รับ \"รถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย\"

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้รายงานผลการดำเนินนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ระบุว่า ในเดือนธันวาคม 2567 ปริมาณผู้โดยสารยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ รถไฟฟ้าสายสีแดง มีปริมาณผู้โดยสาร 1,027,458 คน เพิ่มขึ้น 24.88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วง มีปริมาณผู้โดยสาร 2,026,981 คน เพิ่มขึ้น 4.89% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยทั้ง 2 สายดังกล่าว มีปริมาณผู้โดยสารรวม 3,054,439 คน เพิ่มขึ้น 10.86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ขณะที่รายได้จากการดำเนินนโยบายฯ (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2567) โดยทั้ง 2 สายดังกล่าวมีรายได้รวมกันอยู่ที่ 49.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น รถไฟฟ้าสายสีแดง ก่อนดำเนินนโยบายฯ มีรายได้ 15.97 ล้านบาท 

เมื่อดำเนินนโยบายฯ แล้ว มีรายได้ 20.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 4.07 ล้านบาท ด้านรถไฟฟ้าสายสีม่วง ก่อนดำเนินนโยบายฯ มีรายได้ 28.48 ล้านบาท เมื่อดำเนินนโยบายฯ แล้ว มีรายได้ 29.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 1.39 ล้านบาท

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า จากแนวโน้มปริมาณผู้โดยสารที่ตอบรับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น ถือว่า เป็นสัญญาณที่ดีที่รัฐบาล และกระทรวงคมนาคมได้ช่วยลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังจูงใจให้หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นอีก 1 ปัจจัยในการช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และสร้างโอกาสในการเดินทางอย่างเท่าเทียมของคนทุกกลุ่มด้วย 

นอกจากนี้เมื่อมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นแล้ว คาดว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟฟ้าสายสีแดง จะมีรายได้เท่ากับหรือมากกว่าช่วงก่อนเริ่มนโยบายภายในปี 2568 หรือเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ จากเดิมที่คาดว่าภายในระยะ 2 ปี 7 เดือนหลังจากเริ่มนโยบาย ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐอาจจะไม่ต้องชดเชยส่วนต่างรายได้ให้กับทั้ง 2 โครงการดังกล่าวแล้ว